เผยแกะโคลนรุ่นน้องของ “ดอลลี่” สุขภาพดี มีแนวโน้มอายุยืน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมของสหราชอาณาจักร ซึ่งใช้เทคนิคการโคลนให้กำเนิด “ดอลลี่” แกะที่เกิดจากการโคลนตัวแรกของโลกเมื่อราว 20 ปีก่อน ได้เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดว่า แกะโคลนรุ่นน้องของดอลลี่อีก 4 ตัวซึ่งโคลนจากเซลล์ของแกะตัวเดียวกันและยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสุขภาพแข็งแรงดีและมีแนวโน้มว่าจะอายุยืนกว่าดอลลี่หลายปี

ทั้งนี้ ดอลลี่ตายลงเมื่อมีอายุได้เพียง 6 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าอายุสั้นกว่าแกะปกติ ทั้งยังป่วยเป็นโรคข้อเสื่อมรุนแรง ซึ่งทำให้วงการวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานว่า สัตว์ที่เกิดจากการโคลนนั้นมีสุขภาพไม่สมบูรณ์และมีความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามศึกษาแกะโคลนรุ่นน้องของดอลลี่ 4 ตัว ซึ่งมีอายุระหว่าง 7-9 ปี และเป็นเพศเมียทั้งหมดคือ เด็บบี้ เดนิส ไดแอนนา และเดซี่ รวมทั้งแกะที่โคลนจากเซลล์ของแกะอื่นอีก 9 ตัว พบว่ามีแกะโคลนในจำนวนนี้เพียงสองตัวที่มีสัญญาณเบื้องต้นของโรคข้อเสื่อม โดยตัวหนึ่งมีอาการบ่งชี้อย่างอ่อนและอีกตัวมีอาการบ่งชี้ในระดับปานกลาง ซึ่งถือว่าปกติและพบได้ในแกะทั่วไปโดยไม่ต้องทำการรักษา ส่วนผลการตรวจความดันเลือด ระดับอินซูลิน รวมทั้งความแข็งแรงของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ พบว่าทุกตัวปกติดีเมื่อเทียบกับแกะทั่วไป

ผลการศึกษาครั้งนี้ จุดประกายความหวังให้กับการพัฒนาเทคนิคการโคลนต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้เกรงกันว่าอาจเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการอนุรักษ์สัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.