ประชามติเดินหน้าต่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ม. 61 วรรค 2 พ.ร.บ. ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
บ่ายวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้านผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนชี้ บทบัญญัติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของประชาชน และจะทำให้การลงประชามติไม่มีความชอบธรรม
บ่ายวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้านผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนชี้ บทบัญญัติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของประชาชน และจะทำให้การลงประชามติไม่มีความชอบธรรม
ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมและเห็นว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวมีความคลุมเครือในเนื้อหา ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ประชาชนสับสนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ต้องดำเนินคดีกับประชาชน ซึ่งแม้ท้ายที่สุดศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยก็ถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้วหากมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น ซึ่งที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหากให้มีการดำเนินการลงประชามติด้วยความสับสนเช่นนี้จะทำให้การออกเสียงลงประชามติเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้กระบวนการลงประชามติเดินหน้าต่อไป หลังจากที่เกิดความคลุมเครือก่อนหน้านี้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามาตราดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะส่งผลให้กระบวนการประชามติต้องชะงักหรือเลื่อนออกไป
อย่างไรก็ตาม นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตราดังกล่าว ยืนยันกับบีบีซีไทยว่ายังเห็นว่ามาตราดังกล่าวขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น รธน. ปี 2549 หรือ 2550 หรือแม้แต่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยชี้ว่าเนื้อหาที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้นส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ เห็นได้จากกรณีการจับกุมนักกิจกรรม นักศึกษาที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการแจกใบปลิว ซึ่งนายจอนเห็นว่าแนวทางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมการแสดงความเห็นอย่างเข้มงวดขณะนี้ เป็นการขัดขวางการแสดงออกอย่างสันติและเสรีและขัดขวางการเข้าถึงของประชาชนในการรับฟังข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งการขัดขวางเหล่านี้จะทำให้การลงประชามติที่เกิดขึ้นไม่มีความชอบธรรม
ทั้งนี้ รายละเอียดของ มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ที่ดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
#ประชามติ #ร่างรัฐธรรมนูญ
#ประชามติ #ร่างรัฐธรรมนูญ
แสดงความคิดเห็น