บีบีซีไทย - BBC Thai
สหรัฐฯยกระดับไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการค้ามนุษย์ จากกลุ่มที่แย่ที่สุดในบัญชีที่ 3 ขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ 2 ส่วนเมียนมาถูกจัดไปอยู่กลุ่มที่แย่ที่สุด
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับปี 2559 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯที่ประกาศออกมาที่กรุงวอชิงตันดีซีในวันพฤหัสบดีที่ 30 มิ.ย.ได้ยกระดับประเทศไทยให้ดีขึ้นหลังจากที่ย่ำอยู่ที่กลุ่มที่แย่ที่สุดมาสองปี แต่ทั้งนี้ยังมีข้อแนะนำให้ดำเนินการหลายอย่าง โดยเฉพาะสหรัฐฯระบุอยากเห็นการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็น “รูปธรรม” มีประสิทธิผล การดำเนินคดีที่ใช้เวลาเหมาะสม รวมทั้งขยายผลอย่างชัดเจนโดยเฉพาะคดีที่มีข้าราชการมีส่วน นอกจากนั้นเสนอให้ดูแลด้านสิทธิ เสรีภาพเหยื่อให้มากขึ้นรวมทั้งให้มีระเบียบใหม่ๆอนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์สามารถทำงานได้
รายงานฉบับเดิมของสหรัฐฯที่ให้ไทยอยู่ในกลุ่มบัญชีประเภทที่ 3 นั้นหมายความว่า เป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐฯและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา ในรายงานฉบับใหม่ให้ไทยไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งรายงานระบุว่า การปรับเปลี่ยนหนนี้เป็นการสะท้อนภาพความพยายามของไทยอย่างมี “นัยสำคัญ” ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในช่วงที่มีการจัดทำรายงาน แต่ทั้งนี้ก็ยังถือว่า ยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน และเอกสารข่าวของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่า การถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเภท 2 หมายความว่า ยังจะต้องจับตาปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยที่ยังมีอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลยังจะต้องแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาในมากขึ้น ให้มีผลงานเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล
รายงานมีคำแนะนำที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการหลายอย่างด้วยกันในเรื่องของการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยย้ำว่าสหรัฐฯจะเป็นหุ้นส่วนในการทำงานกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมไทยในการขจัดปัญหานี้
รายงานฉบับใหม่ของสหรัฐฯกล่าวชมที่ไทยดำเนินความพยายามหลายด้านในปีที่ผ่านมา กล่าวคือในด้านการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ คดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ และคดีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน
รวมถึงได้ดำเนินคดีและพิพากษาโทษนักค้ามนุษย์หลายร้อยคน และยังเริ่มสืบสวนคดีการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงหลายสิบคดี แต่ก็ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานเป็นพันธนาการหนี้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ที่มีการสมคบคิดกันโดยไม่ต้องรับโทษ รายงานแสดงความยินดีที่ไทยเริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ และยังชมการที่ไทยเริ่มดำเนินคดีข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้ร่วมคิดในเรื่องค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกล่าวถึงการที่มีการพิพากษาจำคุกถึงสองคน แต่ก็ชี้ว่า คดีที่เกี่ยวกับข้าราชการมีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์นั้นยังมีอีกหลายคดีด้วยกันที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
“มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า ข้าราชการบางคนได้รับผลประโยชน์จากเงินสินบนและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกรรโชกทรัพย์และขายผู้อพยพให้แก่นายหน้า อันเป็นการเพิ่มสภาวะอ่อนแอเปราะบางของผู้อพยพเหล่านี้ที่จะตกเป็นเหยื่อในธุรกิจทางเพศ” รายงานระบุ
อีกเรื่องที่ทำคะแนนให้ไทยคือเรื่องของความพยายามปรับกระบวนการดำเนินคดีด้วยการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ขึ้นในศาลอาญาและมีสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งการสอบสวนคดีเด็กและจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เนตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเด็กและเยาวชน แต่สิ่งสำคัญที่รายงานระบุคือขอให้ไทยติดตามสอบสวน ดำเนินคดีอย่างเข้มแข็งและด้วยระยะเวลาที่ “เหมาะสม” รวมทั้งขยายผลจากคดีที่ทำแล้ว พร้อมทั้งขอให้มีความพยายามมากขึ้นในการช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์ในหลายด้าน รวมไปถึงด้านการให้สิทธิ เสรีภาพความปลอดภัยและให้มีระเบียบใหม่ๆในการอนุญาตให้เหยื่อได้ทำงานด้วย
ก่อนหน้านี้การที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองกลุ่มที่ 3 เป็นเวลาสองปีติดต่อกันสองปี ทำให้เกิดความวิตกถึงผลกระทบที่จะตามมาในเรื่องของภาพลักษณ์ของไทยและสินค้าที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก เพราะการอยู่ในบัญชีกลุ่ม 3 คือการอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด และอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ซีเรีย เกาหลีเหนือ ซิมบับเว และแอฟริกากลาง สำหรับปีนี้ นอกจากไทยแล้ว ยังมีคูเวตที่ได้รับการยกระดับจากกลุ่มบัญชีที่ 3 ขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ 2 ส่วนในกลุ่มที่ 3 นั้น รายงานฉบับล่าสุดได้เพิ่มรายชื่ออีก 8 ประเทศเข้าไปซึ่งรวมไปถึงเมียนมา อุซเบกิสถาน ด้วย ทำให้มีรวมแล้ว 26 ประเทศด้วยกันในกลุ่มนี้
ในภาพ นายจอห์น เคอรี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกับรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2559


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.