บีบีซีไทย - BBC Thai
พบเบาะแสวัยรุ่นผู้ลี้ภัยโจมตีคนบนรถไฟในเยอรมนีอาจสนับสนุนกลุ่มไอเอส

กองกำลังติดอาวุธที่เรียกตนเองว่ารัฐอิสลาม (IS) เผยแพร่วิดีโอที่อ้างว่าเป็นแถลงการณ์ของมูฮัมหมัด ริยาด วัยรุ่นชาวอัฟกานิสถาน วัย 17 ปี ซึ่งใช้มีดและขวานโจมตีกลุ่มคนบนรถไฟโดยสารในเมืองเวิร์ซเบิร์ก รัฐบาวาเรียของเยอรมนี ช่วงค่ำวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย ก่อนที่เขาจะถูกตำรวจยิงเสียชีวิต

วัยรุ่นชายที่ปรากฏในวิดีโอแถลงการณ์ซึ่งกลุ่มไอเอสนำมาเผยแพร่ พูดภาษาปัชโต ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นในอัฟกานิสถาน ทั้งยังมีการชูมีดและประกาศตัวว่าเป็นทหารของไอเอสซึ่งกำลังจะลงมือก่อเหตุพลีชีพ และกลุ่มไอเอสอ้างว่าชายผู้ก่อเหตุพุ่งเป้าโจมตีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส
นายโยคิม แฮร์มัน รัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาวาเรีย ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกตรวจค้นที่พักของวัยรุ่นชายผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งตัวมาอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในเมืองออคเซนเฟิร์ท ไม่ไกลจากเมืองเวิร์ซเบิร์ก และเจ้าหน้าที่พบธงที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มไอเอสอยู่ในห้องนอนของวัยรุ่นชายคนดังกล่าว รวมถึงเอกสารในภาษาปัชโต

จากการสอบปากคำเพิ่มเติมพบว่าผู้ก่อเหตุเพิ่งย้ายมาอยู่ที่เมืองออคเซนเฟิร์ทได้ประมาณ 2 สัปดาห์ และคนที่รู้จักกับผู้ก่อเหตุยืนยันว่าเขาเป็นคนเงียบๆ ไม่เคยแสดงท่าทีก้าวร้าวรุนแรง จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงลงมือก่อเหตุดังกล่าว ส่วนนายแฮร์มันประเมินว่าผู้ก่อเหตุน่าจะศึกษาข้อมูลของกลุ่มไอเอสด้วยตนเอง เพราะยังไม่พบเบาะแสเชื่อมโยงระหว่างผู้ก่อเหตุกับกลุ่มติดอาวุธใด

ด้านนายเหลียง เจิ้น อิง ผู้บริหารสูงสุดแห่งเขตบริหารพิเศษเกาะฮ่องกง แถลงประณามการก่อเหตุทำร้ายคนบนรถไฟในเมืองเวิร์ซเบิร์ก ภายหลังจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่าผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 4 รายเป็นครอบครัวชาวฮ่องกงที่เดินทางไปเที่ยวเยอรมนี โดยนายเหลียงแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บ และเผยว่าตนจะส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือครอบครัวดังกล่าวในเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม นายแฮร์มันยืนยันว่าการก่อเหตุครั้งนี้ไม่ใช่การพุ่งเป้าโจมตีผู้มีเชื้อสายจีนโดยตรง และเขาได้กล่าวปกป้องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ยิงผู้ก่อเหตุเสียชีวิต เนื่องจากผู้ก่อเหตุวิ่งเข้าหาเจ้าหน้าที่พร้อมกับขวานในมือ และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์บนรถไฟยืนยันว่าผู้ก่อเหตุตะโกนคำสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าเป็นภาษาอาหรับก่อนลงมือด้วย

ปีที่ผ่านมา เยอรมนีเปิดรับผู้อพยพจากประเทศต่างๆ มากกว่า 1 ล้านคน รวมถึงชาวอัฟกานิสถานกว่า 150,000 คน แต่นับตั้งแต่ต้นปี 2559 จำนวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่เดินทางมายังเยอรมนีลดลงอย่างมาก เนื่องจากสหภาพยุโรป (EU) เริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมจำนวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในปีนี้


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.