ย้ายผู้ต้องขังกว่า 300 คนหลังเกิดเหตุจลาจลที่เรือนจำปัตตานี ญาติผู้ต้องขังตรวจสอบกันวุ่นขอข้อมูลคนเจ็บ-ตายและที่ถูกย้าย ค่าเสียหาย 4 ล้านบาท ตาย 3 เจ็บ 7

เผยกลุ่มก่อเหตุเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ส่วนชื่อคนที่เชื่อกันว่าเป็นแกนนำบนแผ่นกระดาษยื่นข้อเรียกร้อง กลับกลายเป็นเพียงคนที่เจ้าหน้าที่ขอให้ไปช่วยเป็นล่าม อีกด้านเรือนจำเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุ เจ้าหน้าที่ยืนยันใช้มาตรการปราบปรามจากเบาไปหาหนัก

ในช่วงเช้าวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง รวมทั้งผู้บัญชาการเรือนจำกลาง และประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานีได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงความเสียหายจากเหตุจลาจลว่า มีอาคารเสียหายถึง 3 หลัง เจ้าหน้าที่ใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงในการระงับเหตุ เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกินเวลากว่า 8 ชั่วโมงก่อนที่เจ้าหน้าที่จะระงับเหตุได้ด้วยการส่งหน่วยปราบจราจลเข้าไป และการก่อเหตุยังทำให้มีนักโทษเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 7 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 2 คน และนักโทษ 5 คน สรุปมูลค่าความเสียหายประมาณ 4 ล้านบาท และขณะนี้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ต้องขังกว่า 330 คนออกจากเรือนจำปัตตานีไปไว้ยังเรือนจำอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ต่างยืนยันว่าการคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ใช้มาตรการตามกฎหมายจากเบาไปหาหนัก

สำหรับผู้ที่เสียชีวิตล้วนเป็นผู้ต้องขังชั้นดีที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้คุม สองคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ คือ เกียรติศักดิ์ จันทร์ด้วง และเสริม จันทร์สุนทร อีกคนหนึ่ง คือ สุอนันต์ ป้องซ้าว เสียชีวิตในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตต่อไป นายนพพร รัตนวัย ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานีระบุด้วยว่า ทางการจะตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนหาสาเหตุและตรวจสอบความเกี่ยวข้องของผู้ต้องขังกว่า 330 คนที่ถูกย้ายออกไป

ส่วนรายละเอียดของเหตุการณ์จลาจลนั้น นายนพพร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเล่าว่า เกิดหลังจากที่กลุ่มผู้ต้องขังได้ละหมาดช่วงเย็นวันที่ 15 ก.ค. ขณะผู้คุมเตรียมให้ผู้ต้องขังขึ้นเรือนนอน แต่ปรากฎว่ามีผู้ต้องขังนำก้อนหินมาขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ลุกลามเมื่อผู้ต้องขังเข้าไปวางเพลิงอาคาร แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่เป็นผล ทางเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจให้กำลังหน่วยปราบจลาจลเข้าควบคุมสถานการณ์และโยกย้ายผู้ต้องขังที่ต้องสงสัยว่าร่วมกันก่อเหตุจำนวนกว่า 330 คนไปที่อื่น ส่วนผู้ที่เป็นคนนำในเหตุการณ์มีสองคน คือ นายแวอุสมาน แวสาเมาะ และ นายอัสวี ดอเลาะ ทั้งสองเคยมีส่วนในการก่อเหตุในเรือนจำสงขลามาแล้วเมื่อปีก่อน สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่พอใจก็เพราะความเข้มงวดในระเบียบปฏิบัติของเรือนจำเพื่อปราบปรามยาเสพติด

อีกด้านกรมราชทัณฑ์ออกคำชี้แจงรายละเอียดเรื่องระเบียบของเรือนจำที่เข้มงวด โดยบอกว่าทางเรือนจำได้เข้มงวดกวดขันตรวจค้นโทรศัพท์มือถือและยาเสพติดในเรือนจำ รวมถึงมีการจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและง่ายต่อการตรวจค้น จนทำให้ผู้ต้องขัง 2 ราย ไม่พอใจ ผู้บัญชาเรือนจำกลางปัตตานีจึงขออนุญาตย้ายผู้ต้องขังดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทำให้ทั้ง 2 รายที่เป็นแกนนำในการก่อจลาจลในครั้งนี้ไปรวบรวมผู้ต้องขังคนอื่นๆเป็นจำนวน 200 ราย ร่วมกันก่อเหตุ

กรมราชทัณฑ์ชี้แจงด้วยว่า การคลี่คลายปัญหาในชั้นแรกยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้กำลัง แต่ให้แยกผู้ต้องขังที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาจากกลุ่มที่ก่อเหตุ ต่อเมื่อการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ และเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น.ผู้ต้องขังได้ร่วมกันเผาประตูเรือนจำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและจะทำให้มีการหลบหนีออกเรือนจำ จึงได้มีการตัดสินใจใช้กำลังในการควบคุมเหตุการณ์ไว้ได้เมื่อเวลา 23.00 น.
สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่ถูกย้ายออกจากเรือนจำกลางปัตตานี จะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำต่างๆ จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารสำหรับญาติผู้ต้องขังซึ่งสามารถขอข้อมูลได้จากทางเรือนจำ และวันนี้ที่หน้าเรือนจำปัตตานีปรากฎว่ามีญาติผู้ต้องขังจำนวนมากไปรอขอเข้าพบ แต่เรือนจำยังไม่อนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยม นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเปิดเผยด้วยว่าตนก็กำลังรอเข้าเยี่ยมเพื่อดูสถานการณ์ล่าสุดในเรือนจำปัตตานี เนื่องจากมีญาติผู้ต้องขังต้องการให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยชื่อคนที่ถูกย้ายออกไป รวมทั้งให้ข้อมูลเรื่องอาการของคนที่ได้รับบาดเจ็บทั้งที่สาหัสและไม่สาหัส เนื่องจากมีความเป็นห่วงในเรื่องของการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงของวันหยุดยาว

นายมูหาหมัดซิดดิบ หะยีเต๊ะ หนึ่งในประชาชนที่ไปรอเยี่ยมญาติเปิดเผยว่า ตนไปรอฟังข่าวน้องชาย คือ นายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ผู้ต้องหาคดีความมั่นที่มีชื่อในข่าวว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือนำการก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม ครอบครัวทราบข่าวและเห็นภาพของจดหมายข้อเรียกร้องของผู้ต้องขังตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาและรู้ว่าลายมือในจดหมายไม่ใช่ลายมือของนายมูฮัมหมัดอัณวัรอย่างแน่นอน รวมทั้งนามสกุลก็สะกดผิด แต่ก็โล่งใจมากขึ้นอีกเมื่อผู้คุมยืนยันว่า นายมูฮัมหมัดอัณวัรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพียงแต่เจ้าหน้าที่ขอให้ไปช่วยเป็นล่ามให้ในช่วงเจรจาเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในคืนที่ผ่านมา มีการรายงานผ่านสื่อรวมทั้งโซเชียลมีเดียว่า นายมูฮัมหมัดอัณวัรเป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องในระหว่างก่อเหตุ

ญาติผู้ต้องขังอีกรายที่รับโทษคดียาเสพติดแสดงความกังวลว่า ผู้ต้องขังทุกคนจะถูกลงโทษหนักขึ้นหรือไม่และต้องการไปเตือนลูกไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาเพราะกำลังจะได้รับการอภัยโทษอยู่แล้ว ด้านเจ้าหน้าที่ได้นำรายชื่อผู้ต้องขังที่ย้ายไปไว้ที่เรือนจำอื่นๆ ไปติดแจ้งให้ญาติทราบ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า การย้ายผู้ต้องขังมีจำนวนหนึ่งที่ไปเรือนจำกลางสงขลาคือจำนวน 125 คน เรือนจำจังหวัดสงขลาจำนวน 45 คน ทัณฑสถานบำบัดจังหวัดสงขลาจำนวน 100 คน และเรือนจำจังหวัดนาทวีจำนวน 63 คน ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ก.ค. เนื่องจากวันที่ 16-20 ก.ค.เป็นวันหยุดยาว การย้ายผู้ต้องขังนั้นเจ้าหน้าที่ระบุว่าเพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง ส่วนผู้ต้องขังที่เหลือยังอยู่ในเรือนจำจังหวัดปัตตานีเช่นเดิม

ภาพจากหน้าเรือนจำ
ภาพแรก วีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ภาพที่ 2 และ 3 ประชาชนที่ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ขอข้อมูลที่หน้าเรือนจำวันนี้



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.