บีบีซีไทย - BBC Thai
ปฏิกิริยาหลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
“ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วนะครับว่า พ.ร.บ. ประชามติ นั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หมายความว่าผมและนักกิจกรรมทั้ง 12 คน สามารถถูกตัดสินจำคุกได้ด้วยโทษสูงสุดถึง 10 ปี” นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ หนึ่งใน 13 นักกิจกรรมผู้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ในเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมไปแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความนี้ลงในเฟซบุ๊กหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาของมาตรานี้บัญญัติว่า “ผู้ที่ดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” คำว่า “รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม” ในมาตรานี้เป็นที่มาของข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในการตีความและส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย และมีนักกิจกรรมถูกจับกุมไปแล้ว 13 ราย เพราะการแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชนไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งมาตราดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพหรือไม่ และผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความคลุมเครือ ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อย่างไรก็ตาม วานนี้ (29 มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาในหลายทิศทาง
นายรักษ์ชาติซึ่งเป็น 1 ใน 13 ผู้ต้องหาจากการณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้เขามีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีต่อไปได้ แม้ว่าตัวบทบัญญัติจะไม่ถูกตีความให้ชัดเจน และมองว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น และต้องตระหนักด้วยว่า พ.ร.บ. ประชามติกำหนดโทษไว้สูงมาก อีกทั้งเนื้อหาที่คลุมเครือทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น
“กกต. ควรจะทำคำอธิบายให้ชัดเจนและเป็นทิศทางเดียว เพราะบางที กกต. คนโน้นพูดอย่างหนึ่ง อีกคนพูดอีกอย่าง พูดออกสื่ออย่างหนึ่ง ไปเขียนเฟซบุ๊กก็อีกอย่าง” นายรักชาติกล่าว
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และภายใต้สภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ แม้ศาลจะวินิจฉัยไปในทางตรงข้าม ก็ไม่อาจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม เขาเรียกร้องให้จับตาการใช้อำนาจที่อาจจะบิดเบือนกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน และระบุว่าการทำประชามติแบบ ‘มัดมือชก’ อย่างที่เป็นอยู่ รังแต่จะทำให้การทำประชามตินี้ขาดความชอบธรรมลงไปทุกที
“ผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลายคงต้องช่วยกันยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นก็ดี เผยแพร่ความคิดเห็นก็ดี หรือการรณรงค์ก็ดี ล้วนเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นสิทธิอันชอบธรรมด้วยประการทั้งปวง กับจะต้องช่วยกันยืนยันด้วยว่าการทำประชามตินั้นเป็นการอาศัยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมาใช้แก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติ ในกรณีที่สังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องสำคัญ การทำประชามติจึงต้องเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม” นายจาตุรนต์กล่าว
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า จากนี้เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องตีความกรณีต่างๆ ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ โดยเชื่อว่าการเคลื่อนไหวจะยังมีต่อไป แต่ต้องยึดถือกฎหมาย และผู้ที่ทำกิจกรรมต้องไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือรุนแรงก้าวร้าว โดยนายสุวพันธุ์แสดงความมั่นใจว่าฝ่ายความมั่นคงจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.