ปัญหาอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหารตามประกาศ คสช.
Posted: 02 Jul 2016 03:32 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
บทความชิ้นนี้เป็นการสรุปจากความเห็นที่เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อ 29 มิถุนายน 2559

1. ข้อความเบื้องต้น

การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารเป็นการพิจารณาคดีเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งย่อมมีขึ้นได้ตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วย “การกระทำโดยจำเป็น” โดยเฉพาะในภาวะที่ศาลไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตามปกติ เพราะมีเหตุภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน ถึงขนาดเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจเปิดทำการได้ เช่นในภาวะที่มีเหตุฉุกเฉินอันเนื่องมาจากสภาวะสงคราม การสู้รบ หรือการจลาจล
ในสภาวะเช่นนี้ประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการรักษาความสงบย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินการทุกวิถีทางตามที่จำเป็นเพื่อขจัดปัดเป่าภยันตรายเช่นนั้นตามที่จำเป็น ซึ่งมักทำด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึก อันเป็นการประกาศรวบอำนาจรัฐ และใช้อำนาจนั้นทำการทั้งปวงเพื่อขจัดปัดเป่าภยันตรายในภาวะฉุกเฉิน
อำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกและรวบอำนาจรวมศูนย์ไว้กับผู้ประกาศนี้ ถือกันว่าเป็นอำนาจตามความจำเป็นที่มีขึ้นตามเหตุผลของเรื่อง จึงเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นตามความสัมพันธ์ทางข้อเท็จจริง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี เพื่อความชัดเจนแน่นอนว่า ได้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ถึงขั้นที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยต้องใช้อำนาจทั้งปวงในการขจัดปัดเป่าภยันตรายให้สิ้นไป และเพื่อให้ประชาชนเชื่อฟังโดยดี จึงมีการยอมรับว่า จะต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการด้วย
ในทางทฤษฎียังคงมีการถกเถียงกันว่า อำนาจพิจารณาตรวจสอบว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินถึงขนาดหรือไม่ เป็นอำนาจของใคร ฝ่ายหนึ่ง นำโดย A. Dicey, Introduction to the Study of the Law of the Constitution (N.Y.: 5th ed. 1923), pp.539-544 มีความเห็นว่า ฝ่ายบริหารเป็นผู้มีอำนาจประกาศ แต่การตรวจสอบเป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการหรือศาลยุติธรรมตามปกติ เพื่อตัดสินว่ามีเหตุจำเป็นจริงหรือไม่
แต่อีกฝ่ายหนึ่ง เช่นศาลสูงสหรัฐในคดี Luther v. Borden, 7 How. (48 U.S.) 1 (1849) 45 ก็อธิบายว่าอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจเด็ดขาดโดยเฉพาะของผู้มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการบัญชาการเพื่อขจัดปัดเป่าภยันตรายนั้นๆ ที่ไม่อาจถูกตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการได้
แต่ทว่า ในคดี Ex parte Milligan, 4 Wall. (71 U.S.) 2 (1866) ศาลสูงสหรัฐก็ได้ตัดสินว่า การที่ประธานาธิบดี Lincoln ได้อ้างอำนาจประธานาธิบดีเหตุสงครามกลางเมือง ยับยั้งหมายศาลที่เรียกให้ส่งตัวบุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานมายังศาล (habeas corpus) เมื่อเดือนกันยายน 1863 โดยอ้างว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างการควบคุมตัวในการพิจารณาคดีของศาลทหาร ในคดีที่ผู้นั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นจารชน ผู้สนับสนุนฝ่ายข้าศึกนั้น เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะขณะนั้นประเทศไม่ได้ตกอยู่ในภาวะไม่สงบถึงขนาดที่ศาลไม่อาจทำการพิจารณาข้อพิพาทได้ตามปกติ
ในคดีนี้ศาลสูงได้ยืนยันว่า แม้รัฐสภาจะทรงไว้ซึ่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการประกาศสงคราม และชอบที่จะตรากฎหมายทั้งปวงเพื่อให้ประสบชัยชนะในสงคราม และแม้ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการบังคับบัญชากองทัพ และบัญชาการรบทั้งปวง โดยไม่มีกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญวางข้อจำกัดอำนาจไว้โดยแจ้งชัดก็ตาม แต่อำนาจเช่นนั้นของรัฐสภาและประธานาธิบดีก็ย่อมมีได้จำกัดตามเหตุผลของเรื่อง และตามหลักทั่วไปของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ศาลสูงจึงไม่อาจรับรองให้รัฐสภาประกาศและบังคับใช้กฎอัยการศึกทั้ง ๆ ที่ไม่มีการประกาศสงคราม หรือสถานการณ์สงครามดำรงอยู่ตามข้อเท็จจริง
ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า รัฐสภาอาจกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีแทนศาลยุติธรรมได้ แต่อำนาจเช่นนั้นย่อมมีจำกัดเฉพาะในสถานการณ์สงคราม

2. ปัญหาขอบเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร

หลักที่ว่า ศาลทหารอาจมีอำนาจพิจารณาคดีแทนศาลยุติธรรมได้เฉพาะในสถานการณ์สงคราม หรือภาวะสู้รบหรือจลาจลที่กล่าวแล้วนี้ ก็มีที่มาจากต้นกำเนิดของอำนาจศาลทหารนั่นเอง คือมาจาก “เหตุจำเป็น” และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ “เหตุจำเป็น” คือภาวะสู้รบ จลาจล หรือสถานการณ์สงครามได้สิ้นสุดลง อำนาจของศาลทหารก็ย่อมสิ้นสุดลงเพราะ “ไม่จำเป็น” อีกต่อไป
ในกรณีอำนาจศาลทหารตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ก่อนการยึดอำนาจการปกครอง ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ต่อมาในวันยึดอำนาจการปกครองก็ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และหลังจากยึดอำนาจได้ 3 วัน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 37/2557 เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557 กำหนดให้ความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร อันได้แก่
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112
(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ
2. ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ความผิดเหล่านั้นได้แก่
– ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง (ป.7/2557 เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557)
– ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รายงานตัวเป็นความผิด (ป.41/2557 เมื่อ 30 พฤษภาคม 2557)
– ความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้ (ป.46/2557 เมื่อ 30 พฤษภาคม 2557) และ
– ความผิดฐานสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง (ป.49/2557 เมื่อ 30 พฤษภาคม 2557)
หลังจากยึดอำนาจได้ 10 เดือน ก็ได้มีพระบรมราชโองการให้เลิกกฎอัยการศึกทั้งสองฉบับข้างต้น โดยประกาศว่า “สถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึก” แล้ว โดยให้เลิกกฎอัยการศึกนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป
ในวันที่ได้มีพระบรมราชโองการให้เลิกกฎอัยการศึกนั้นเอง ก็ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกบังคับใช้ โดยกำหนดมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติด้วยการให้อำนาจข้าราชการทหารปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยโดยให้มีอำนาจต่าง ๆ ตามกฎหมายเฉพาะอีกหลายประการ
ที่สำคัญในข้อ 12 ของประกาศดังกล่าว ได้แก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปที่เคยกำหนดเป็นความผิดไว้ตั้งแต่วันยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยให้มีโทษลดลงจากเดิมที่เคยประกาศไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าคำสั่งที่ 3/2558 นี้ มุ่งหมายจะตราขึ้นเพื่อเป็นมาตรการ และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใช้แทนกฎอัยการศึกที่หมดความจำเป็นไปแล้วนั้น
การที่มีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึก เพราะสถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึก และการออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ขึ้นบังคับใช้แทนการใช้กฏอัยการศึกนี้ ทำให้เกิดปัญหาน่าคิดว่าว่า จะส่งผลกระทบต่อความมีผลของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 ที่มุ่งใช้ในสถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยกำหนดให้ความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารเพียงใด
หากพิจารณาตามหลักกฎหมายทั่วไป และตามความมุ่งหมายของกฎหมายให้ใช้กฎอัยการศึก ประกอบกับธรรมนูญศาลทหารที่มุ่งให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนเฉพาะบางคดีที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลทหารได้ และมีได้เฉพาะในยามไม่ปกติแล้ว เมื่อมีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึก อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารย่อมระงับสิ้นไปทันทีที่มีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึกนั้นเอง
เพราะเมื่อสถานการณ์หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกอันเป็นเหตุให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีเหนือพลเรือน กล่าวคือเมื่อไม่มีเหตุให้มีศาลทหารในยามไม่ปกติเสียแล้ว ผลอันมีมาแต่เหตุ คืออำนาจพิจารณาของศาลทหารเหนือพลเรือนในยามไม่ปกติ ในข้อกล่าวหาที่มีขึ้นหลังวันที่มีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึก ก็ย่อมสิ้นลงตามไปด้วย คงเหลือแต่อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรสรุปได้ว่า นับจากวันที่มีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึก และการกำหนดมาตรการและการตรากฎเกณฑ์เปลี่ยนแปลงอัตราโทษที่เคยกำหนดไว้สำหรับการชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ย่อมมีผลเป็นการประกาศเปลี่ยนแปลงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารให้สิ้นผลไปโดยปริยาย
ที่มา: facebook.Kittisak Prokati

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.