Genderless Kei แฟชั่นไม่จำกัดเพศในญี่ปุ่น เปิดพรมแดนสุดล้ำท้าทายขนบเดิม
Posted: 30 Jun 2016 02:21 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมแต่งการข้ามเพศอยู่แล้วทั้งในศิลปะยุคเก่าและในวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่เทรนด์ล่าสุดที่เรียกว่า "Genderless Kei" ก็พยายามไปไกลกว่านั้นด้วยการท้าทายหรือลบเลือนเส้นแบ่งพรมแดนทางเพศทิ้งไป และอาจจะกลายเป็นพื้นที่ให้คนเพศทางเลือกได้แสดงออกมากขึ้นในสังคมกระแสหลักที่ยังไม่เปิดกว้าง
นิตยสารแฟชั่นจากสหรัฐฯ Refinery29 นำเสนอเรื่องกระแสเทรนด์การแต่งกายและการแสดงออกแบบไม่ยึดติดเพศสภาพหรือที่เรียกว่า "Genderless Kei" โดยยกตัวอย่างการแต่งตัวเช่นหนุ่มแหววท่าทาง "คาวาอี้" รูปร่างผอมบางในชุดสีชมพู สวมเครื่องประดับแบบผู้หญิง ปากทาลิปสติกสีราสป์เบอร์รี แต่นี่ไม่ใช่แค่การจับผู้ชายมาแต่งหน้าเท่านั้น Refinery29 ระบุว่าปรากฏการณ์ Genderless Kei ถือเป็นการก้าวข้ามเส้นเขตแดนของเพศสภาพและเพศวิถีในประเทศที่แทบไม่เคยมีการถกเถียงกันในประเด็นนี้มาก่อน
ในประเทศญี่ปุ่นมีกระแสแฟชั่นต่างๆ หลากหลายจากฮาราจูกุเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายโกธิก โลลิตา แฟชั่นแกลหรือ "Gyaru" ที่เป็นสาวทาตัวสีแทนทำผมบลอนด์ หรือแฟชั่นสุดจี๊ดอื่นๆ ที่อาจจะล้มหาย เกิดใหม่ หรือหลอมรวมแปรเปลี่ยนเป็นแนวใหม่ แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือแฟชั่น Genderless Kei ที่มีที่มาจากปรากฏการณ์ "อัลจาง" (Ulzzang) ที่หมายถึงหน้าตาในอุดมคติสำหรับทั้งเพศหญิงและเพศชายที่ถูกนำไปใช้ในภาพลักษณ์ของเหล่าไอดอลเคป็อบ ต่อมากระแสภาพลักษณ์หนุ่มอรชรหน้าตาคล้ายตุ๊กตาเช่นนี้ก็แพร่สะพัดไปทั่วเอเชียจนกระทั่งถูกดูดกลืนและดัดแปลงในทางสุนทรียะโดยหนุ่มๆ นักแต่งตัวในโตเกียว
Naopis โมเดลและบล็อกเกอร์แฟชั่นที่เขียนให้นิตยสาร "Nylon" กล่าวว่าแนวทางแฟชั่น Genderless Kei คือการแต่งแต้มสีสันแบบผู้หญิงๆ ให้กับผู้ชาย จากเดิมที่สิ่งเหล่านี้ผู้ชายตามแบบฉบับทั่วๆ ไปมักจะออกห่างเช่นการใช้สีชมพู Naopis บอกว่าตัวเขาเองก็ชอบสีชมพูเหมือนกันเพราะมันเป็นสีที่ "เจิดจ้าและกล้าหาญ"
บล็อกเกอร์ชาวญี่ปุ่นหลายคนชี้ว่าพวกเขาได้อิทธิพลมาจากแฟชั่นฤดูใบไม้ร่วงคอลเลคชั่นที่ 13 ของ เจ. ดับเบิลยู แอนเดอสัน ที่ส่งโมเดลชายขึ้นไปบนเวทีเดินแบบพร้อมกับชุดที่ดูแทรกด้วยความเป็นหญิง จนกระทั่งดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่นได้ออกแบบคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วงของตัวเองในปี 2558 โดยมีการสับเปลี่ยนการแต่งกายแบบสลับเพศ เช่น ให้ผู้หญิงแต่งชุดมาดเข้มแบบแฟชั่นท้องถนนลอนดอนเดินเคียงไปกับโมเดลชายที่สวมชุดผูกโบว์แบบผู้หญิงหรือแม้กระทั่งชุดแต่งงาน
หนึ่งในโมเดลญี่ปุ่นที่เดินแบบกับชุดสลับเพศนี้ใช้ชื่อว่า GenKing ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของเทรนด์ไม่ยึดติดเพสภาพเขาบอกว่าสำหรับเขาแล้วเรื่องความลื่นไหลทางเพศสภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาชอบที่แม่เขาคาดผมเขาด้วย Hello Kitty มาตั้งแต่สมัยอนุบาล และการปรากฏตัวของเขาในฐานะ "เด็กชายหน้าสวยลึกลับ" ก็ทำให้กระแส Genderless Kei บูมขึ้นมาในสื่อญี่ปุ่น แต่ถึงแม้ Genking จะบอกว่าเขามีหัวใจเป็นหญิงแต่กระแส Genderless Kei ไม่ใช่ความต้องการถูกมองว่าเป้นผู้หญิงแต่เป็นเสมือนพื้นที่ให้เขาเป็นได้ทั้ง "นายแบบ" และ "นางแบบ" เพราะการที่มีเพศสภาพคลุมเครือสำหรับเขาแล้วเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชายสนใจของน่ารักพรุ้งพริ้งแบบเด็กผู้หญิงหรือการที่สาวๆ ทำอะไรคูลๆ ดูเป็นผู้ชาย
Toman โมเดล Genderless Kei อีกรายหนึ่งและสมาชิกวงบอยแบนด์กล่าวเช่นกันว่าเรื่องของ Genderless Kei ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวเพราะมันไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนเป็นเพศใดแต่เป็นการข้ามพ้นบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องเพศสภาพ
ไม่เพียงแค่คนที่มีเพศกำเนิดเป็นชายเท่านั้นที่อยู่ในเทรนด์นี้ ในนิตยสารแฟชั่นก็ญี่ปุ่นยังมีการนำเสนอ "สาวหล่อ" อย่างผู้หญิงในชุดแบบผู้ชายด้วย จนทำให้ Genderless Kei แทบจะลบเลือนพรมแดนระหว่างเพศทิ้งไป เว้นแต่ว่าสื่อญี่ปุ่นมักจะเลือกให้ความสนใจกับแต่ผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายในเทรนด์นี้เท่านั้น คนที่พูดึงเรื่องนี้คือ Ranma Yu นักเต้นและโมเดลที่ไม่จำกัดนิยามเพศสภาพตัวเอง เธอเคยแสดงอยู่ในคณะละครทาคาระซึกะซึ่งมีแต่ผู้หญิงแสดงในบททั้งเพศชายและหญิง ชื่อในการแสดงของเธอมาจากการ์ตูนอนิเมะที่ชื่อ "รันม่า 1/2" (Ranma 1/2) ที่ตัวละครเอกจะสลับเพศไปมาระหว่างชายหญิงถ้าหากโดนน้ำ
Refinery 29 ระบุว่าถึงแม้ประเทศญี่ป่นจะมีวัฒนธรรมแปลกๆ ที่ชวนให้ชาวโลกประหลาดใจหลายเรื่อง แต่สังคมญี่ปุ่นหลักๆ ยังอนุรักษ์นิยมในเรื่องเพศสภาพ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จัดอันดับให้ญี่ปุ่นมีช่องว่างระหว่างเพศสูงมากไม่ว่าจะเป็นช่องว่างรายได้ จำนวน ส.ส.ในสภา คนทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ภาพของหญิงภรรยารินชาปรนนิบัติสามีมนุษย์เงินเดือนยังเป็นภาพที่แสดงให้เห็นการแบ่งแยกทางเพศในปริมณฑลสาธารณะของญี่ปุ่น ที่ยังคงมีอยู่และส่งผลต่อผู้คน
บรรยากาศนอกอาณาเขตแฟชั่นของญี่ปุ่นก็ยังคงมีการแบ่งแยกเพศแบบดั้งเดิมอยู่ โรงเรียนรัฐจำนวนไม่มากที่บังคับแต่งยูนิฟอร์มเพิ่งยอมให้นักเรียนหญิงเลือกสวมกางเกงได้ แม้ว่าในอาณาเขตของแฟชั่นและบันเทิงมีเรื่องของการแต่งกายข้ามเพศ หรือมีความลื่นไหลทางเพศกันมานานแล้วและเกิดเป็นกระแสนิยมเป็นพักๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนางรำ "ชิระเบียวฉิ" (shirabyoshi) ที่แต่งกายด้วยกางเกงขายาวพกดาบซามูไร หรือกระแสเพลงร็อค visual-kei ที่มีการแต่งกายฉูดฉาดหยิบยืมอิทธิพลมาจากเดวิด โบวี ในยุคแสดงภาพยนตร์ "มหัศจรรย์เขาวงกต" (Labyrinth)
อย่างไรก็ตามมีบางคนเชื่อว่าสังคมญี่ปุ่นอาจจะเปิดรับเทรนด์แบบ Genderless Kei มากขึ้นเนื่องจากความสนใจและการตามแฟชั่นของทั้งชายและหญิงในญี่ปุ่น แต่ มะสะฟุมิ มงเดน ผู้เขียนหนังสือ "Japanese Fashion Cultures: Dress and Gender in Contemporary Japan" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่นและเพศสภาพในญี่ปุ่นร่วมสมัยโต้แย้งในประเด็นนี้ว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมตะวันตกคือการเป็นคนสนใจแฟชั่นไม่ได้ทำลายความเป็นชายในแบบของวิถีการรักเพศตรงข้าม (heterosexual masculinity) ในทางตรงกันข้ามมันยิ่งเพิ่มความน่าปรารถนาในตัวผู้ชายด้วย เพราะผู้ชายที่น่าปรารถนาในสุนทรียะของญี่ปุ่นคือผู้ชายผิวเนียน ผมจัดทรง คิ้วเรียบร้อย หุ่นสเลนเดอร์ ดูสนใจแฟชั่น ตรงกันข้ามกับชายที่น่าปรารถนาในวัฒนธรรมตะวันตกที่ต้องกล้าแสดงออก มีความมั่นใจมากเกินไปจนล้นในแบบของผู้ชายๆ และไม่สนใจแฟชั่น
มงเดนกล่าวอีกว่าแฟชั่นหรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เชื่อมโยงกับวิถีทางเพศของคนนั้นๆ มากเท่ากับมุมมมองทางวัฒนธรรมของตะวันตก ซึ่งมงเดนหมายความว่าในบางวัฒนธรรมการที่ผู้ชายแต่งตัวในทางใกล้เคียงผู้หญิงอาจจะถูกตีความจากผู้มองเห็นโดยอัตโนมัติว่าเป็นเกย์หรือคนรักเพศเดียวกัน แต่ในญี่ปุ่นการแต่งกายข้ามเพศจะไม่ทำให้ถูกมองเช่นนั้นโดยอัตโนมัติ แต่ Genderless Kei คือขีดสุดของการเปิดให้ชายและหญิงสลับสับเปลี่ยนพื้นที่ในการแต่งกายข้ามพ้นการกำหนดทางวัฒนธรรมได้
ในบทความ ยกตัวอย่าง Ryucheru ที่เป็น "หนุ่มน้อยน่ารัก" หรือ "คาวาอิบอย" แก้มชมพูแซมด้วยเครื่องประดับวิ้งวับ เขามีคนรักสาวชื่อ Peco-chan ส่วน Genking ที่ถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดเสีงฮือฮาหลังเปิดตัวว่าเป็นเกย์ทางโทรทัศน์เขาก็พยายามทำให้คนแยกแยะระหว่างการแสดงออกทางรูปลักษณ์ของเขากับเพศวิถีของเขาออกจากกัน โดยบอกว่าการเป็นคนข้ามเพศ (transgender) เป็นเรื่องของเพศสภาพเป็นคนละอย่างกับวิถีความชื่นชอบทางเพศ
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ Genderless Kei ส่งสารที่มีพลังออกมา ซึ่งตรงกันข้ามกับแฟชั่นที่พยายามจะ "เป็นกลางทางเพศ" (gender-neutral) เช่นผลงานของ Zara ที่ชื่อคอลเล็กชันไม่ระบุเพศ (Ungendered collection) ที่ไม่ทำให้เกิดความนิยมได้ เพราะการลบเลือนสิ่งที่สื่อถึงเพศสภาพทำให้มันจืดเกินไป ต่างจาก Genderless Kei ที่ไม่ได้เน้นลบเลือนความเป็นเพศแต่ใช้วิธีการแบบขี้เล่นๆ ในการงัดเอาการแปะป้ายของเพศสภาพแบบดั้งเดิมออกไป เช่นที่ Toman บอกว่า "กาลครั้งหนึ่ง ผู้ชายก็ยังเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็ยังเป็นผู้หญิง แต่ในตอนนี้พวกเราเป็นอิสระจะสวมใส่อะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ"
ทั้งนี้ การที่กระแส Genderless Kei ไม่ได้เสนอถ้อยแถลงเรื่องทางเพศมากเกินไปก็ทำให้มันปลอดภัยในการแสดงออกทางการเมืองในระดับส่วนตัวแบบที่ไม่กระโตกกระตาก กระแสการบูมของความลื่นไหลทางเพศสภาพในแฟชั่นญี่ปุ่นยังสะท้อนให้เห็นถึงการที่คนรุ่นปัจจุบันต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองออกจากแบบแผนของคนรุ่นก่อน Genking บอกว่าถ้าญี่ปุ่นมีการเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นบ้างมันก็จะที่ให้พบเจอคนที่มีความวิเศษในตัวได้มากขึ้น
ในญี่ปุ่นคนที่เป็นเพศทางเลือกยังแสดงตัวอย่างชัดเจนได้ยาก ทำให้ Naopis มองว่าถ้า Genderless Kei ได้รับความนิยมก็จะทำให้สังคมมองเห็นกลุ่มเพศทางเลือกที่เคยรู้สึกถูกกดทับจากแบบแผนดั้งเดิมของประเทศเพิ่มมากขึ้น Naopis บอกว่ายุคสมัยที่คนไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถเข้าถึงแฟชั่นและความงามได้จะเป็นการเปิดพื้นที่ทำให้เพศทางเลือกรู้สึกสบายใจได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี
สำหรับตอนนี้ Genderless Kei ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในหมู่วงการแฟชั่นและดารา แต่สื่อญี่ปุ่นก็เริ่มทำให้คำว่า "genderless" เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะข้ามไปสู่แฟชันกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นสายคาวาอี้ หรือ Visual Kei และกลายเป็นอะไรที่มากกว่าเทรนดแฟชั่น เช่นที่ Ranma Yu บอกว่าสำหรับเธอแล้ว Genderless Kei ไม่ใช่แค่แผชั่นคือการแสดงออกตัวตนผ่านทางศิลปะ และเป็น "สัญลักษณ์ความเป็นปัจเจกบุคคล" ของตัวเธอเอง
เรียบเรียงจาก
Japan's "Genderless Kei" Trend Is About So Much More Than Just Fashion, Refinery 29, 22-06-2016 http://www.refinery29.com/2016/06/113884/japanese-fashion-kei-agender,
แสดงความคิดเห็น