พบหลักฐานชี้รูโหว่ชั้นโอโซนขั้วโลกใต้มีขนาดเล็กลง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษซึ่งติดตามเก็บข้อมูลความกว้างของรูโหว่ชั้นโอโซนที่ขั้วโลกใต้ระหว่างปี 2000-2015 รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดของเดือนกันยายนปี 2015 ชี้ว่า รูโหว่ของชั้นโอโซนซึ่งเคยมีความกว้างใหญ่เท่ากับประเทศอินเดียเมื่อช่วงปี 2000 กลับมีขนาดลดลงเหลือเพียง 4 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งแสดงว่าการรณรงค์ห้ามใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซน ตามพิธีสารมอนทรีออลเมื่อปี 1987 เริ่มเป็นผลอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ โอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ เป็นม่านป้องกันโลกจากรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตของดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก รวมทั้งอันตรายอื่น ๆ ต่อสิ่งมีชีวิต แต่การใช้สารเคมีจำพวกคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) ซึ่งมีโมเลกุลของคลอรีนและโบรมีนได้ทำลายชั้นโอโซน ทำให้เกิดรูโหว่ขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งชั้นโอโซนมีความเสียหายรุนแรงเป็นพิเศษที่บริเวณขั้วโลกใต้ เนื่องจากมีความเย็นและแสงสว่างมาก ทำให้เร่งปฏิกิริยาของคลอรีนเข้าทำลายชั้นโอโซนได้มากขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยคณะนี้ยังชี้ด้วยว่า รูโหว่ของชั้นโอโซนไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นเป็นวงกว้างจากเหตุภูเขาไฟระเบิด ซึ่งอนุภาคกำมะถันจากภูเขาไฟเป็นตัวการทำลายชั้นโอโซนได้ด้วย เช่นเหตุการณ์ภูเขาไฟคาลบูโคในชิลีระเบิด เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายชั้นโอโซนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
(ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ)


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.