กิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มนุษย์รบกวนป่าฝน ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น
ผลการวิจัยล่าสุด พบว่ากิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มนุษย์รบกวนป่าฝนแอมะซอน เช่นการเลือกตัดไม้เป็นบางจุด การล่าสัตว์ และการตัดแบ่งพื้นที่ป่า ล้วนเป็นตัวการให้ป่าฝนที่ชื้นแฉะเกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น
จากการศึกษาผืนป่า 400 แห่ง ทั้งป่าอุดมสมบูรณ์และป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าแอมะซอนมาเป็นเวลา 2 ปี ศาสตราจารย์ จอส บาร์โลว์ ผู้นำการวิจัยจากศูนย์สิ่งแวดล้อมแลงคาสเตอร์สรุปว่า แม้พื้นที่สีเขียวของแอมะซอนจะยังคงเหลืออยู่ถึงร้อยละ 80 แต่ในความเป็นจริง ผืนป่าเหล่านี้มีมูลค่าของทรัพยากรเหลืออยู่เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น เนื่องจากปัญหาการรบกวนป่า เช่นการเลือกตัดไม้เป็นบางแถบ ทำให้พื้นที่ป่าถูกแบ่งและเกิดช่องโหว่บนยอดไม้ซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมรักษาความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า เมื่อขาดการปกคลุม พื้นผิวป่าก็จะแห้ง และเมื่อผนวกกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก สภาพอากาศร้อนแล้งจะยิ่งทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น
ดร. อเลกซานเดอร์ ลีส์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล หนึ่งในคณะวิจัยชี้ว่า ผลกระทบที่ตามมาจะเกิดกับสัตว์ป่า รวมถึงนกใกล้สูญพันธุ์ที่พบแต่เฉพาะที่ป่าแอมะซอนเท่านั้น เธอย้ำว่า สัตว์ป่าเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ หากการรบกวนป่ายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป ทั้งนี้ป่าแอมะซอนซึ่งมีพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนคิดเป็นร้อยละ 40 ของโลก ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก
แสดงความคิดเห็น