เผยเรื่องราวเหยื่อซ้อมทรมานสองราย แม่บอกเล่าเหตุการณ์ลูกชายตายในระหว่างถูกคุมขังด้วยสภาพศพเต็มไปด้วยบาดแผล
คดียังอยู่ในชั้นศาลแต่ทนายเตือนคดีซ้อมทรมานครอบครัวเหยื่อมักถอยเพราะท้อ ชี้เป็นบทเรียนของคดีซ้อมทรมานที่ต้องร่วมกันแก้ไขหลายด้าน
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสวันต่อต้านการทรมานสากลซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี ในงานหนนี้มีญาติของเหยื่อซ้อมทรมานบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับรู้ โดยรายแรกคือนางบุญเรือง สุธีรพันธ์ แม่ของสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ เริ่มเรื่องราวของลูกชายว่าได้รับโทรศัพท์แจ้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ว่าลูกชายของเธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเนื่องจากช่วยเหลือผู้กระทำผิด และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารบกจังหวัดสุรินทร์ โดยศาลไม่ให้ประกันตัวเพราะกลัวผู้ต้องหาหลบหนี เธอได้ไปขอเยี่ยมลูกชายหลายครั้งพร้อมนำอาหารและจดหมายไปให้ทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้พบ จนกระทั่งวันที่ 21 ก.พ. ก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวร้าย
“วันที่ 21 ก.พ. เวลา 8.45 น. ดิฉันไปซื้อของเตรียมค้าขาย มีโทรศัพท์เข้ามา แจ้งว่ากิตติกรเสียชีวิต ดิฉันก็ตกใจ ก็โทรบอกน้องสาวว่าลูกชายตาย น้องสาวแนะนำให้เอาลูกมาผ่าพิสูจน์ศพข้างนอก มีโทรศัพท์บอกว่าตำรวจพร้อม หมอพร้อม ดิฉันก็ขอให้เอาศพมาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ หมอพยาบาลถามว่าทำไมถึงเอามาผ่าที่นี่ ก็บอกว่าลูกชายตายผิดปกติ ก็เอามาผ่าพิสูจน์”
นางบุญเรืองได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งก็ได้แต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นผู้โจทย์ร่วมในกระบวนพิจารณาไต่สวนการตาย ซึ่งเป็นกระบวนการในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ทราบพฤติการณ์การตายที่แท้จริงของสิบโทกิตติกร โดยรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ระบุสาเหตุแห่งการตายว่า “บาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารที่แตกเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย” คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาลชั้นต้น “ทำไมลูกเราอยู่ระหว่างรับราชการ และอยู่ในมณฑลทหารบก ทำไมลูกเราต้องตาย” นางบุญเรืองกล่าว
อีกราย นางวาสนา เกิดแก้ว แม่ของนายอนันต์ เกิดแก้ว ซึ่งเคยถูกจับกุมเมื่อปี 2554 และร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ต่อมาถูกจับกุมอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย. 2558 โดยตำรวจแจ้งว่าเขามียาเสพติดในครอบครองแปดเม็ด และมีพฤติการณ์หลบหนีแล้วล้มหัวฟาดทางเท้า ตำรวจแจ้งให้น้องสาวของนายอนันต์ทราบว่า ได้ส่งตัวนายอนันต์ไปรักษาที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา อีก 3 วันต่อมานายอนันต์เสียชีวิต โดยผลชันสูตรระบุว่าผู้ตายมีอาการเลือดคั่งในปอดและมีบาดแผลตามลำตัว
“ตำรวจมาเจรจาบออกว่าไหนๆ คนก็ตายไปแล้ว ก็อยากช่วยทำบุญสักแสนนึง แต่ต้องเซ็นเอกสาร แม่จึงบอกไปว่า ถ้ามีจิตใจช่วยเหลือ ก็รับ แต่ถ้าจะให้เซ็นเอกสารแม่ไม่เซ็น ต่อมาทางอำเภอติดต่อมาว่าจะให้สามแสน แม่บอกว่าจะรับเงินแต่ไม่เซ็นเอกสารอะไรทั้งสิ้น ครั้งที่สามเขาเสนอให้ห้าแสน แต่แม่มีทนายไปด้วย ตำรวจก็ตำหนิว่าทำไมแม่มากับใครก็ไม่รู้ แม่ยืนยันว่าต้องการความยุติธรรมและอยากรู้ว่าลูกแม่ตายด้วยสาเหตุอะไร” นางวาสนากล่าว คดีนี้เป็นอีกคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลชั้นต้น
ทั้งนางบุญเรืองและนางวาสนาต่างยืนยันไม่ยอมให้เรื่องราวการตายของลูกถูกทิ้งไว้เป็นปริศนา ขณะที่นายสมชาย หอมละออ ทนายความสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ในหลายๆ กรณีที่เขาพบ เหยื่อหรือญาติของเหยื่อมักทิ้งคดี เพราะการแสวงหาความเป็นธรรมนั้นมีความยากลำบากเนื่องจากการทรมานเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและยังเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่ เมื่อเทียบกับการตรวจสอบการทรมาน การเข่นฆ่าทารุณกรรมอีกหลายประเทศมักจะเกิดขึ้นหรือทำได้เมื่อสถานการณ์หรือความขัดแย้งคลี่คลายไปแล้ว เช่น กรณีการตรวจสอบการทรมานในติมอร์ตะวันออก



“สำหรับประเทศไทยกลุ่มองค์กรและกลไกเหล่านี้ยังมีอิทธิพล การสอบสวนก็ไม่สามารถทำได้อย่างมืออาชีพและอย่างเป็นอิสระ และข้อสำคัญคือคนที่เป็นเหยื่อของการทรมาน คนที่ได้รับความเสียหาย เช่น แม่ที่ลูกถูกทรมานจนเสียชีวิต น้อยรายที่จะกล้าหาญที่จะร้องเรียนและต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรม สิ่งที่เขาดำเนินการไปนั้นอาจจะเป็นช่วงแรก แต่เมื่อมี ผู้หวังดีให้รับเงินไม่ว่าจะเป็นเงินสามแสนหรือห้าแสน แต่ก็มีนัยยะว่าถ้าไม่รับเงินเหล่านี้ก็ต้องเลือกเอาว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้ที่เป็นผู้เสียหายจากการทรมานเกิดความท้อแท้ไม่มากก็น้อย และในที่สุดคดีต่างๆ เรื่องต่างๆ ก็มักลงเอยด้วยการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ เราในฐานะทนายความ องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมักจะพบเสมอ ว่าผู้เสียหายนั้นมักจะยอมทิ้งคดี” นายสมชายกล่าวถึงสภาพปัญหา
อย่างไรก็ตามนายสมชายระบุว่า ขณะนี้ตนฝากความหวังไว้กับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่ยังรอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. การออกกฎหมายนี้เป็นมาตรการที่ไทยต้องทำ เป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานที่ไทยไปเป็นภาคีไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2550 นายสมชายชี้ว่า กฎหมายใหม่ที่จะออกมานี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ป้องกันและเยียวยาเมื่อมีปัญหาการซ้อมทรมาน และหวังว่า สนช. จะไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหามากจนเกินไป
นายปกป้อง ศรีสนิท นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่ร่างเนื้อหา ของกฎหมายดังกล่าวอธิบายว่า กฎหมายนี้มีข้อกำหนดที่จะทำให้การคุมขังอย่างปิดลับทำไม่ได้อีกต่อไป เจ้าหน้าที่จะจับกุมและคุมขังผู้ต้องหาในสถานที่ที่ปกปิดไม่ให้ญาติและทนายเข้าพบเกินสามวันไม่ได้ อีกทั้งผู้ที่ถูกคุมขังสามารถร้องเรียนกรณีที่มีการทรมานเพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือย้ายสถานที่คุมขังไปอยู่ในที่ปลอดภัยมากขึ้น และที่สำคัญคือร่างฯ นี้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมป้องกันการซ้อมทรมาน ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการอิสระโดยจะมีทั้งบุคลากรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม จะเข้ามาทำหน้าที่การสืบสวนสอบสวนหากมีกรณีร้องเรียนเกิดขึ้น และให้ศาลอาญาเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาคดีซ้อมทรมาน ไม่ใช่ศาลทหาร
“แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐมองว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความสงบ ความสุขและการปราบปรามอาชญากรรม แต่ผมมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะอ้างอย่างนั้นไม่ได้ การใช้วิธีทรมานหรืออุ้มหายเพื่อปรามปรามอาชญากรรมต่างๆ มันยอมรับไม่ได้ และมันสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดผู้บริสุทธิ์” นายปกป้องย้ำว่าการทรมานและการบังคับสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด
ภาพ: นางบุญเรือง สุธีรพันธ์ และนางวาสนาเกิดแก้วพร้อมด้วยญาติและเหยื่อการซ้อมทรมานเดินทางไปยื่นจดหมายและพบเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.