Posted: 28 Jan 2019 08:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-28 23:52
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า คณิตศาสตร์มีความสำคัญมากแก่การพัฒนาประเทศ ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ เราจะส่งเสริมแต่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่พอ
ผมเห็นด้วยกับท่านศาสตราจารย์เป็นอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่พอแน่ แต่ต้องรวมทุกวิชา (หรือแม้แต่ที่ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นเป็นวิชา) วาดเขียนหรือศิลปะ, การละคร, พลศึกษา, วรรณคดี, สุขศึกษา ฯลฯ ก็ล้วนมีความสำคัญไม่น้อยกว่าภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ทั้งนั้น
ครับ ดอกไม้ร้อยดอกควรบานพร้อมกัน
สมมุติให้คิดแต่เรื่องเงินนะครับ คนในโลกปัจจุบันต้องการ “ผลิตภัณฑ์” ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ (เช่น การเงิน, การนวด, การท่องเที่ยว, บรรยากาศของห้างสรรพสินค้า ฯลฯ) ซึ่งสามารถตอบสนองอะไรได้หลายอย่างมาก นับตั้งแต่ใช้ประโยชน์ได้, ส่อให้เห็นสถานภาพทางสังคมที่เขาอยากเอาตัวเองไปวางไว้ตรงนั้น, ควรตอบสนองต่อ “อุดมคติมวลชน” ด้วย เช่น ผลิตจากวัสดุหมุนเวียนทั้งหมด และยังควรสอดคล้องกับ “รสนิยมมวลชน” อีก คือไม่ใช่สวยงามถูกใจบางคน แต่ใครๆ เห็นก็ว่าสวยถูกใจทั้งนั้น
ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ไม่พอจะสร้าง “ผลิตภัณฑ์” ชนิดนี้ได้หรอกครับ แม้ไม่ได้คิด “ผลิตภัณฑ์” นั้นขึ้นมาเอง เพียงแต่รับจ้างเขาผลิต ผู้อยู่ในกระบวนการผลิตทุกคน นับตั้งแต่คนงานขึ้นมาถึงผู้จัดการใหญ่ ล้วนต้องเข้าใจคุณลักษณะสำคัญทั้งหมดเหล่านี้ใน “ผลิตภัณฑ์” ที่ตัวกำลังประกอบขึ้น
เป็นเอเย่นต์ขายบริการให้คนอื่น ก็ต้องมีความเข้าใจอย่างเดียวกัน
ความเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้นได้จากการใช้จินตนาการข้ามความรู้เฉพาะด้านเฉพาะส่วนของตนเอง ไปมองเห็นผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูปแล้วทั้งอัน รวมถึงการใช้สอยครอบครองผลิตภัณฑ์นั้นของผู้คนด้วยว่าจะไปกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนอย่างไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มีให้เห็นในขณะนั้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้งคนและประเทศจะทำมาหากินในโลกปัจจุบัน โดยขาดความสามารถสำคัญอย่างหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ “จินตนาการ”
โดยคำนี้ ผมหมายถึงความสามารถที่จะมองเห็นวิธีการ, มาตรฐาน, คำตอบ, คำถาม, “ความจริง”, ความศักดิ์สิทธิ์, อุดมคติ, ศีลธรรม, ปฏิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ ที่แตกต่างจากที่ตนเองคุ้นเคย ซึ่งที่จริงก็คือสิ่งที่สังคมสถาปนาเอาไว้นั่นเอง ทั้งหมดนี้ผมขอใช้คำเดียวเรียกคลุมทั้งหมดเลย คือ “มาตรฐาน”
ภาษาของคนปัจจุบันมักเรียกว่า “นอกกรอบ” แต่ผมไม่อยากให้จำกัดแต่เพียงการ “คิด” นอกกรอบ แต่ควร “รู้สึก” นอกกรอบ และ “ฝัน” นอกกรอบด้วย
จะนอกกรอบได้ก็ต้องมีจินตนาการครับ
อันที่จริง “กรอบ” ก็คือสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นครอบงำบุคคล ซ้ำครอบคลุมอย่างแน่นหนาเสียด้วย เราจึงเคยชินที่ทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหา เราจะมองย้อนกลับไปดูว่า ปัญหาอย่างนี้เขาแก้กัน “ในกรอบ” อย่างไร เรื่องอื่นก็เหมือนกัน ภาพเขียนนี้ “งาม” หรือไม่ เราก็อาศัยมาตรฐานของความงามที่เคยรู้ๆ มาตัดสินภาพเขียนนั้น ความงามที่เราคุ้นเคยจึงอยู่ใน “กรอบ” เหมือนกัน
“กรอบ” จึงเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรายิ่งกว่าแขนขาที่ห้อยอยู่รอบตัวเสียอีก เพราะแม้แต่ตัดส่วนที่ห้อยๆ เหล่านี้ออกไปให้หมด เราก็ยังอยู่ใน “กรอบ” นั่นเอง
ในแง่นี้ “กรอบ” ก็มีประโยชน์นะครับ ไม่มีเสียเลยก็คงมีชีวิตอยู่ได้ยาก ไฟไหม้บ้านแล้วมัวคิดว่าจะดับ “นอกกรอบ” อย่างไร ถึงจะคิดได้ในที่สุด ก็คงสูญเสียบ้านไปหลายหลังทีเดียว จนชีวิตไม่เหลืออะไรอื่น นอกจากเก็บเงินสร้างบ้านอย่างเดียว
แต่ในขณะเดียวกัน “กรอบ” ก็บีบบังคับให้เราไม่มีวันพบอะไรใหม่อีกเลย หากบรรพบุรุษสมัยหินของเราใช้ชีวิตใน “กรอบ” อย่างเดียว ป่านนี้เรายังอยู่ถ้ำและต้องเที่ยวหาอาหารกินจากป่าอยู่เลย
ยิ่งโลกอยู่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน “นอกกรอบ” จึงยิ่งมีความสำคัญแก่ทุกคน
ถ้า “กรอบ” คือตัวเรา วิชาที่ทำให้เราหลุดจากตัวเราได้อย่างชัดเจนที่สุด ในทัศนะของผมคือวิชาวรรณคดีครับ
เริ่มตั้งแต่คิดว่าผู้เขียน ซึ่งบางครั้งมีชีวิตอยู่คนละยุคสมัยหรือสังคมกับผู้อ่าน ต้องการความหมายอย่างไรกันแน่ ไปจนถึงตัวละครแต่ละตัว ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ซึ่งบางครั้งผู้อ่านเองก็ไม่เคยประสบ จะรู้สึกนึกคิดอย่างไรภายใต้สถานการณ์อย่างนั้น และภายใต้บุคลิกภาพและประสบการณ์เดิมของตัวละครนั้น
ความสามารถในการถอนตัวเองออกจากตัวเองเช่นนี้ไม่ได้มีมาตามธรรมชาติเสียทีเดียว อย่างน้อยถึงมีมาเองก็ค่อนข้างจำกัด ต้องอาศัยการฝึกปรือจินตนาการให้สามารถทำได้ฉับไวและจำลองตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่นได้อย่างคล่องแคล่ว จนกลายเป็นธรรมชาติของบุคคล (sympathy อาจเป็นธรรมชาติมนุษย์ แต่ empathy ต้องฝึก)
ผมไม่ได้หมายถึงความเห็นใจพร้อมช่วยเหลือคนอื่นอย่างเดียว ที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราสามารถจำลองตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่น แต่ผมหมายถึงการปฏิบัติงานของตนเองให้เป็นที่น่าพอใจด้วย เราต่างมีประสบการณ์อยู่บ่อยๆ กับพนักงานที่มีหน้าที่ให้บริการด้านต่างๆ นับตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อไปจนถึงโรงพยาบาล หน่วยราชการ และห้างร้านเอกชน หลายคนในบรรดาคนเหล่านี้เจตนาจะให้บริการแก่ “ลูกค้า” อย่างจริงใจ แต่เพราะไม่สามารถจำลองตนเองเข้าไปในสถานการณ์ของ “ลูกค้า” ได้ จึงไม่เข้าใจคำขอหรือไม่เปิดให้บริการมีความยืดหยุ่นแก่คนในสถานการณ์ที่หลากหลาย
ที่พูดกันว่าคนไทยเก่งด้านบริการ เพราะเราอ่อนหวานเอาอกเอาใจเก่ง ไม่จริงนักหรอกครับ หัวใจของการบริการในโลกปัจจุบันคือคิดในสถานการณ์ของคนอื่นต่างหาก อย่างเดียวกับการผลิตสินค้า คือคิดแทนคนอื่นซึ่งมีชีวิต, รสนิยม, สถานภาพ ฯลฯ ที่แตกต่างจากผู้ผลิตเป็น (ยุคสมัยของเฮนรี่ ฟอร์ด ที่โฆษณาขายรถฟอร์ดรุ่น T แก่ลูกค้าว่า “คุณจะเลือกสีอะไรก็ได้ เว้นแต่ต้องเป็นสีดำเท่านั้น” ได้จบไปนานแล้ว)
ผมอยากจะพูดว่า เพราะเราสอนวรรณคดีกันอย่างชนิดที่ไม่ปลุกเร้าให้ผู้เรียนใช้จินตนาการ คิดและรู้สึกอะไรออกไปนอกตัวบทให้มาก จึงทำให้คนไทยไม่ได้ถนัดงานบริการอย่างที่เข้าใจกัน แต่พอพูดแล้วจึงได้นึกออกว่า ที่จริงแล้วทุกวิชาในโลกนี้ล้วนควรสอนให้มีความสามารถด้านจินตนาการให้กว้างไกลไปกว่าพื้นฐานของวิชาทั้งนั้น
ฟิสิกส์ที่จะใช้ประโยชน์ได้จริง คือฟิสิกส์ที่ต้องคำนึงถึง “ตัวแปร” ซึ่งอยู่นอกสูตรคำนวณต่างๆ (และมักคิดขึ้นในสภาพที่เกือบเหมือนสุญญากาศ แรงต่างๆ กระทำต่อกันโดยไม่มี “ตัวแปร” อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง) ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริง ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสมมุติฐานเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์นั้น เป็นเพียงมิติเดียวของความเป็นมนุษย์ วันๆ เราทำอะไรที่อเศรษฐศาสตร์อยู่ตลอดเวลา เช่น แต่งงานหรือมีลูก
เอาเข้าจริง ไม่มีวิชาอะไรสักอย่างในโลกนี้ ที่ไม่ต้องการจินตนาการ ยิ่งคณิตศาสตร์ยิ่งต้องการจินตนาการสูงมาก เพราะนักคณิตศาสตร์คิดอะไรกับสิ่งสมมุติทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง นับตั้งแต่จำนวนเป็นต้นไป ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราสอนคณิตศาสตร์กันอย่างเป็นเทคนิควิธี หรือสอนให้มีจินตนาการ ซึ่งจะนำไปสู่การคิดหรือถอดสมการแบบที่ไม่เคยมีคนคิดหรือทำมาก่อน
ผมพูดถึงจินตนาการในการศึกษาว่าจะทำเงินได้อย่างไร ก็พูดตามที่นักการศึกษาไทยชอบพูดเสมอ ประหนึ่งว่าคุณค่าของการศึกษาคือทำเงินหรือไม่ และมากน้อยเท่าไร และผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดทั้งหมดของการศึกษาไทย คือจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของสิ่งอื่น ไม่ใช่ผู้เรียน
เมื่อเริ่มการศึกษามวลชน เราคิดจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างกลไกรัฐและข้าราษฎรที่ยอมอยู่ในบังคับควบคุมของรัฐ ต่อมาเมื่อเริ่มนโยบายพัฒนา ก็จะใช้การศึกษาสร้างเงิน ไม่ว่าสร้างให้แก่ชาติหรือแก่บุคคลผู้รับการศึกษา ผลก็คือในที่สุดก็มีเจ้าสัวจำนวนน้อยที่ทำกำไรล้นเหลือจากกำลังคนที่การศึกษาผลิตขึ้นมาป้อนกิจการของเขา แต่คนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่พอกับมาตรฐานการครองชีพที่ขยับสูงขึ้น จึงไม่มีโอกาสพัฒนาตนเอง เพราะต้องมัวแต่ก้มหน้าก้มตาหาเงินกันอย่างเคร่งเครียด
การศึกษาไทยจึงสร้างคนที่พร้อมจะรับคำสั่งอย่างเซื่องๆ จากรัฐหรือจากเจ้าสัว มีความสามารถทำตามคำสั่งได้เพราะผู้สั่งเองก็ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าอำนาจและเงิน ในสถานการณ์อย่างนี้จินตนาการไม่มีที่ของมัน และไม่ใช่ส่วนสำคัญในการศึกษา
เมื่อไรก็ตามที่การวางแผนการศึกษาใช้เงินเป็นตัวตั้ง คนก็ถูกลดระดับลงเหลืออะไรอื่นที่ไม่ใช่ตัวเขาอีกต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรในโรงงานบ้าง เป็นผู้เสียภาษีและเสียสละให้แก่รัฐบ้าง แต่ที่จริงแล้วคนเป็นลูก, เป็นแม่-พ่อ, เป็นพี่-น้อง, เป็นเพื่อน, เป็นคนรักและคนที่ได้รับความรัก, เป็นคนชอบร้องเพลง, เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ฯลฯ คือเป็นตัวเขานั่นแหละครับ และเป็นตัวเขาก่อนจะเป็นอย่างอื่น
และส่วนที่เป็นตัวเขานี่แหละที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากการศึกษาไทย
ตราบเท่าที่เราไม่วางเป้าหมายการศึกษาไว้ที่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้เต็มที่ แต่ไปวางไว้ที่อะไรอื่นห่างไกลตัวผู้เรียน นอกจากการศึกษาไม่อาจบรรลุจุดประสงค์ที่ห่างไกลตัวผู้เรียนได้แล้ว การศึกษายังกลายเป็นเครื่องประดับมากกว่าความเปลี่ยนแปลง
ผมไม่กล้ายืนยันว่าจินตนาการจะทำให้ใครหรือประเทศใดรวยขึ้นมาได้ เพราะนั่นต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกมาก แต่ผมอาจยืนยันได้ว่า ด้วยความสามารถด้านจินตนาการ คนไทยจะมีชีวิตด้านจิตใจและปัญญาที่สมบูรณ์เต็มเปี่ยมมากขึ้น คนเช่นนี้อาจไม่รวยอู้ฟู่ แต่ไม่จนหรอกครับ
ปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มต้นที่เลิกใช้เงินเป็นตัวตั้งในการจัดการศึกษาเสียที
เผยแพร่ครั้งแรกใน:
มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_164808[full-post]