ความเคลื่อนไหวเรื่องประชามติสุดสัปดาห์ อ่านรัฐธรรมนูญ ท้าดีเบต

กิจกรรมอ่านรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่จะมีการลงประชามติกันในวันที่ 7 ส.ค. นี้ กิจกรรมมีขึ้นในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 17 ก.ค. โดยประชาชนจำนวนหนึ่งมานั่งและยืนอ่านร่างรัฐธรรมนูญที่บริเวณสกายวอร์ค หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประจำการจำนวนมาก ก่อนที่กิจกรรมจะเสร็จสิ้นไปในเวลา 18.30 น.

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลชื่อดังที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวบอกว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่เธอเดินทางจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานเสวนาเกี่ยวกับหนังสือแปล จึงปลีกเวลามาร่วมกิจกรรม และร่วมอ่านเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเธอตั้งใจว่าจะไปลงมติไม่รับ เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และมีการพยายามที่จะสืบทอดอำนาจรัฐธบาลทหารรวมถึงมีประเด็นเกี่ยวกับสวัสดิการที่เคยบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้หลายฉบับซึ่งเธอห่วงว่าอาจจะถูกตัดทอนไป โดยภัควดีเห็นว่า การที่สามารถดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจนลุล่วงและไม่มีเหตุรุนแรงหรือการจับกุมถือเป็นสัญญาณที่ดีจากทางรัฐบาลซึ่งน่าจะต้องการลดแรงกดดันทั้งจากในและต่างประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปหลายคน
วันถัดมา อาทิตย์ที่ 18 ก.ค. นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เปิดตัวเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอีกชุดหนึ่ง โดยระบุ 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเปิดทางให้เกิดการสืบทอดอำนาจของทหาร และมีอำนาจเหนือรัฐบาลและองค์กรสำคัญเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เป็นต้น

กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเวทีอภิปรายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา กรธ. มีความเห็นว่าเอกสารของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่มีเนื้อหาบิดเบือน แต่ไม่มีการอธิบายในรายละเอียดว่าบิดเบือนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเย็นวันเดียวกันว่า ยินดีรับคำเชิญ แต่ต้องรอให้ กกต.หารือก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร และคิดว่าควรจะเปิดเป็นเวทีทางวิชาการ โดยระบุด้วยว่าเครือข่ายที่พยายามล้มรัฐธรรมนูญมีความพยายามอย่างแข็งขัน แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อมั่นว่า กรธ. ทำดีที่สุด และตั้งใจยกร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงประเทศหลายด้าน แต่ก็อยู่ที่ประชาชนตัดสินใจ และอยากให้ศึกษารัฐธรรมนูญถ่องแท้ก่อนลงคะแนน
ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สรุปจำนวนคดีผู้ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีเนื่องจากใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดไว้ทั้งหมดว่ามี 113 คน แบ่งเป็นคดีตามข้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ทั้งหมด 94 คน ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 5 คน กรณีที่โดนทั้งข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และตามมาตรา 61 มีจำนวน 13 คน และมี 1 คนที่ถูกดำเนินคดีสองคดีคือทั้งด้วยข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวและตามมาตรา 61 สถิติดังกล่าวนี้รวบรวมไว้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ยังมีคดีล่าสุดคือกรณีของนายชูวงศ์ มณีกุล ทนายความ และแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจังหวัดกระบี่ ซึ่งเดินทางไปมอบตัวที่ สภ.เมืองกระบี่เช้าวันนี้ หลังถูกออกหมายจับว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ เนื่องจากโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “จะไปลงประชามติ แต่จะไม่รับร่างประชามติ ฉบับโจรปล้นชาติ”
อีกด้านหนึ่ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. ได้แถลงว่าอาจจะดำเนินคดีกรณีเอกสารของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (สสมส.) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีชื่อว่า เอกสารอนาคตประเทศไทย ตอนที่ 2 : คำถามหลักและคำถามพ่วง เนื่องจากเอกสารดังกล่าวมีลักษณะเอนเอียง และขอหยุดการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวและปรับปรุงแก้ไข

กระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า หากไม่ผ่านประชามติแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเช้านี้ว่า ยังไม่มีสูตรตายตัวหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีกระบวนการร่างใหม่ แต่จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ







แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.