บีบีซีไทย - BBC Thai
ยูเอ็นชี้การขริบอวัยวะเพศหญิงเป็น “การทารุณเด็ก”

ดร.บาบาทุนเด้ โอโซทิเมฮิน ผู้อำนวยการบริหารกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กล่าวอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า การขริบอวัยวะเพศหญิงถือเป็น “การทารุณเด็ก” ชี้เป็นประเพณีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำเป็นจะต้องยุติลงในทันที

ดร.โอโซทิเมฮิน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ประเพณีการขริบอวัยวะเพศเด็กหญิงเกิดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และถือเป็นการทารุณกรรมเด็ก โดยก่อนหน้านี้ UNFPA เคยระบุว่าประเพณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เลี่ยงที่จะเรียกว่า “การทารุณเด็ก”
การขริบอวัยวะเพศหญิงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันในหลายพื้นที่ของแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย องค์การอนามัยโลกได้แบ่งรูปแบบการขริบออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) ตัดปุ่มคลิตอริส 2) ตัดปุ่มคลิตอริสและแคมเล็ก 3) ตัดทั้งแคมใหญ่และแคมเล็กแล้วเย็บปิดอวัยวะเพศให้เหลือเพียงช่องเล็กๆ 4) การขริบหรือการกระทำใดๆที่เป็นอันตรายหรือทำให้อวัยวะเพศพิการ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผลจากการขริบอวัยวะเพศทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ อาทิ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในไต ซีสต์ ปัญหาการเจริญพันธุ์ การเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงปัญหาด้านจิตใจระยะยาว

ปัจจุบันมีสตรีและเด็กหญิงกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกที่ถูกขริบอวัยวะเพศ ยูเอ็นประเมินว่า มีสตรีและเด็กหญิงอีกกว่า 3 ล้านคนกำลังเสี่ยงถูกจับขริบอวัยวะเพศ โดยในเคนยานั้น ผู้หญิงราว 1 ใน 5 คน ตกเป็นเหยื่อการขริบอวัยวะเพศ

ขณะนี้หลายประเทศในแอฟริกากำลังรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและค่านิยมเรื่องการขริบอวัยวะเพศ โดยองค์การยูนิเซฟ ระบุว่า เคนยาอาจขจัดประเพณีนี้ให้หมดสิ้นไปได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะประเพณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนในหลายสังคมยึดปฏิบัติมาช้านาน


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.