เปิดพิพิธภัณฑ์มีชีวิต “ป้อมมหากาฬ” สู้กระแสไล่รื้อย่านเก่า
ปัญหาไล่รื้อชุมชน "ป้อมมหากาฬ" เวียนมาอีกระลอก หลังจากกรุงเทพมหานครมีกำหนดรื้อถอนบ้านภายในชุมชนป้อมมหากาฬให้ได้ 10 หลังแรกช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเวนคืนพื้นที่นำไปจัดสร้างสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ไม่เคยเห็นว่ามีโบราณสถานแห่งใดที่มีชุมชนอยู่ร่วมด้วยมาก่อน”
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ได้ร่วมมือกับนักวิชาการและสถาปนิกรุ่นใหม่ ปรับพื้นที่ลานกลางแจ้งและตรอกเก่าเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ หากมีการจัดการที่ดี โดยจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาปัตยกรรมบ้านไม้อายุนับร้อยปี และให้คนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์บอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนรอบพระนคร
นายชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า ประวัติศาสตร์ของเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากคนบางกลุ่ม แต่มีหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่ชาวบ้าน ไพร่ ทหาร ที่ช่วยกันก่อร่างสร้างเมือง ซึ่งในระดับสากลเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยและการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับชุมชนมากขึ้น แต่ในประเทศไทย ภาครัฐยังคงมองว่า "วัด วัง กำแพงเมือง" เป็นส่ิงเดียวที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์
นายชาตรี ระบุว่า การพัฒนาชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่การพัฒนาต้องเริ่มจากภายใน และไม่สามารถที่จะใช้วิธีย้ายคนออกแล้วสร้างสิ่งใหม่ ๆ มาทดแทนได้ เพราะถ้าไม่มีชุมชน เมืองก็จะเป็นเมืองร้างและไม่มีชีวิต ขาดความปลอดภัย ควรปรับปรุงตรอกซอกซอยให้เป็นย่านร้านค้าหรือที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้เมืองไม่ตาย ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชนอีกด้วย
“การทำแผนพัฒนาฉบับนี้เหมือนเป็นการสร้างดิสนีย์แลนด์ เมืองจริง ๆ ต้องมีคนอยู่ 24 ชั่วโมง ในกรณีป้อมมหากาฬที่ภาครัฐต้องการอนุรักษ์พื้นที่ให้เป็นที่ท่องเที่ยว ทำไมต้องเลือกระหว่างสวนสาธารณะที่ไม่มีคนอยู่ กับชุมชนที่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว เราทำให้มีทั้งสวนและชุมชนจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหรือไม่” นายชาตรี กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.