เสียงของผู้หญิงมอญในกระบวนการสันติภาพของเมียนมา
มี คุน ชัน นน รองประธานองค์กรสตรีมอญหรือ Mon Women's Organization บอกว่าเมียนมาเป็นสังคมที่มีค่านิยมเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือทัศนคติเก่าแก่ของสังคม แต่ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการอบรมส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงโดยองค์กรอิสระต่างๆ ก็ทำให้มีผู้หญิงมีความรู้และมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องบ้านเมือง และได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าผู้นำผู้ชายยังมีทัศนคติที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง องค์กรสตรีจึงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของผู้หญิง
ในการประชุมว่าด้วยสันติภาพเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอให้มีสัดส่วนของผู้หญิงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 อยู่ในหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งแม้จะเป็นสัญญานของการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ มี คุน ชัน นน ยังไม่แน่ใจถึงท่าทีของรัฐบาลเมียนมาว่าจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศแค่ไหน แต่เบื้องต้นมองว่าประเด็นนี้ไม่ได้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้
มี คุน ชัน นน บอกว่า เครือข่ายผู้หญิงในเมียนมาจึงยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการสันติภาพ เหตุผลก็คือ แม้ผู้หญิงจะไม่มีบทบาทร่วมต่อสู้ในสนามรบ แต่พวกเธอก็ได้รับผลกระทบจากสงคราม เช่นการต้องแบกภาระดูแลครอบครัวโดยลำพัง ทำให้พวกเธอเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องเด็กและปัญหาสังคมอื่นๆ ซึ่งถ้าหากพวกเธอได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ มุมมองเหล่านี้จะถูกใช้สะท้อนสถานการณ์จริงจากพื้นที่และความต้องการของชุมชน อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและสันติภาพที่ยั่งยืน และยังมีโอกาสแก้ไขปัญหาที่ผู้หญิงกำลังเผชิญอยู่
องค์กรสตรีมอญเป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมศักยภาพและสิทธิของผู้หญิงมอญมาตั้งแต่ปี 1984 โดยเริ่มจากโครงการให้การศึกษาแก่ผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ต่อมาจึงเริ่มทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศ และรณรงค์ให้ผู้หญิงมีบทบาทในการทุกระดับของกระบวนการตัดสินใจ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.