Posted: 28 Jun 2017 10:57 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)‘กุลลดา’ ชี้ 2475 เกิดจากชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีฐานอำนาจแคบ สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยหลายครั้ง เชื่อว่าการปะทะครั้งนี้รุนแรงกว่าที่เคยปรากฏและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เศรษฐกิจฝืดเคืองจะเป็นเชื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (คนซ้าย)
รายงานการเสวนาชิ้นสุดท้าย ในวาระครบรอบ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย ในหัวข้อ ‘การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (Politics of Everyday Life’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการอิสระ ที่วิเคราะห์การเมืองไทยผ่าน 4 แนวคิด และคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจกำลังมาถึง
“เราอาจเริ่มต้นด้วยการถามว่ามีแนวคิดหรือทฤษฎีทางรัฐศาสตร์อะไรที่จะอธิบายการเมืองไทยตั้งแต่หลัง 2475 ดิฉันเลือกมา 4 ทฤษฎี หนึ่ง-Critical International Political Economy การพูดถึงบทบาทของทุนนิยมศูนย์กลางที่มีต่อโครงสร้างทางสังคม ทางการเมืองของไทย การใช้ทฤษฎีนี้จะทำให้เรามีความตระหนักกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยพลังทางสังคมต่างๆ แล้วก็บทบาทของศูนย์กลางในกระบวนการทางการเมืองของไทย
“วิธีการที่ 2 คือ Comparative Politic ดิฉันตอนคิดเรื่องนี้ก็ไปอ่านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส คิดอยู่นานเหมือนกันว่าเราจะพูดสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสดีหรือไม่ เพื่อจะเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย แต่ว่าอาจารย์กนกรัตน์ทำหน้าที่นี้แล้ว ดิฉันก็จะขอพูดถึงส่วนอื่นที่จะมาเสริมการมองของอาจารย์กนกรัตน์ ดิฉันคิดว่าจะใช้ Comparative Politic ในการมองขบวนการชาตินิยมของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามักจะเข้าใจกันว่าขบวนการชาตินิยม ภาพที่ปรากฏเป็นขบวนการต่อต้านอาณานิคม แต่ถ้ามองเข้าไปให้ลึกๆ แล้ว ขบวนการชาตินิยมก็คือการต่อต้านระบบโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะรวม 2475 ในฐานะขบวนการชาตินิยม ในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ทฤษฎีที่คิดว่าสำคัญที่อยากให้มองกันในการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมาคือแนวคิดเรื่องอำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองคือความสามารถในการควบคุมและจัดสรรทรัพยากร ดังนั้น เวลาจะดูการเมืองไทยก็ต้องดูด้วยว่าอำนาจตรงนี้อยู่ที่ใคร แล้วเป็นไปเพื่อเหตุผลใด
“แนวคิดสุดท้ายที่ดิฉันคิดว่ามีความสำคัญคือคุณลักษณะของผู้นำ เราอาจจะอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างในการเมืองไทยได้เหมือนกัน
“เริ่มต้นนำ Critical International Political Economy มาดู เราก็จะเห็นว่าไทยไปเชื่อมกับระบบทุนนิยมโลก และเราจะเห็นว่ามันเป็นฐานที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐศักดินาสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงนั้นมีระยะเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับรัฐตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส กระบวนการตรงนี้ในที่อื่นทำให้เกิดชนชั้นใหม่ๆ หรือพลังทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่ในกรณีของไทยเป็นเรื่องของผู้นำกับชนชั้นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
“สิ่งที่อยากจะเสนอภาพการมองการเมืองไทยหลัง 2475 อาจจะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ต่างไปจากของอาจารย์ธเนศคือ ดิฉันอาจจะมีความหวังมากกว่าหรือเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากกว่า ดิฉันจึงคิดว่ามันก็มีความเป็นเส้นตรงที่มันยักเยื้องอยู่ แต่ในที่สุดแล้ว เรามองฝรั่งเศสพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เราก็อาจอยู่ในเส้นทางตรงนั้นได้เหมือนกัน
“การยักเยื้องที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร ดิฉันขอให้ใช้คำง่ายๆ ว่า มันเป็นการปะทะกันระหว่างพลังเก่ากับพลังใหม่ สภาวะในปัจจุบันนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ อาจจะขอให้มองว่าเป็นการปะทะกันที่มีนัยสำคัญมาก นั่นคือพลังใหม่ก็สามารถรวบรวมฐานอำนาจของตนขึ้นมาที่จะทำให้พลังเก่ามีความหวั่นไหวในการที่ตนต้องสูญเสียอำนาจไป ปรากฏการณ์ที่เราเห็น ดิฉันคิดว่าเป็น Action กับ Reaction หวังว่าอาจจะเป็นการปะทะกันครั้งสุดท้าย เพราะเป็นการปะทะกันที่รุนแรงมากที่สุด ส่วนปี 2475 เราต้องเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีฐานอำนาจที่แคบมาก
“จากการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ก็เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการขึ้นมาของจอมพลสฤษดิ์ เพราะเอกสารมันบอกชัดว่าเขาต้องการผู้นำแบบไหน แล้วในที่สุดเราก็มีจอมพลสฤษดิ์ที่เหมาะกับเงื่อนไขต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการได้ สหรัฐฯ ที่มองว่าไทยตอนนั้นเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญในสงครามเวียดนาม จึงต้องการผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์
“ตัดมาถึงการเลือกตั้งในสมัยจอมพลถนอมใน ค.ศ.1969 เรามีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจากมีการยืดเยื้อในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลานาน ถ้าเราไม่มีความเข้าใจบทบาทของสหรัฐฯ เราก็อาจบอกว่าเพราะร่างรัฐธรรมนูญมานานก็เลยต้องมีสักที จริงๆ แล้วผู้นำไทยไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งครั้งนั้นเลย แล้วการเลือกตั้งครั้งนั้นก็เกิดขึ้นทั้งโดยการผลักดัน ชักจูง ของสหรัฐฯ เขาให้แม้กระทั่งเงินที่จะไปสร้างพรรคสหประชาไท เขาบอกเราว่า เราควรจะหาเสียงอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้รัฐบาลที่เป็นทหารเปลี่ยนเสื้อผ้ามาเป็นผู้นำที่เป็นพลเรือน
"ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก จากการที่ดิฉันศึกษาประวัติศาสตร์มานาน ดิฉันเชื่อว่าพลังอะไรที่กระทบกับความเป็นอยู่ของสังคม มันก็จะเป็นพลังกลับที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้"
“เพราะฉะนั้นที่ดูเหมือนเป็นการเริ่มต้นของประชาธิปไตย แม้จะจบไปในระยะเวลาสั้นในปลายปี 1971 มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการภายใน แต่เกิดจากความต้องการของสหรัฐฯ แล้วเมื่อระบบรัฐสภาไม่รองรับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในการปฏิบัติการในสงครามอินโดจีน เพราะการผลักดันงบประมาณที่จะนำไปใช้ในกัมพูชาให้ไปอยู่ในงบพัฒนาของเรา เป็นไปด้วยความยากลำบาก 1 วันก่อนมีการรัฐประหาก็มีคนระดับสูงของสหรัฐฯ หิ้วเงินสดเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก บอกว่าเพื่อช่วยในการปราบยาเสพติด สรุปว่าประชาธิปไตยครั้งแรกในสมัยใหม่หลังยุคจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของเรา
“แล้ว 14 ตุลา เราจะเข้าใจมันได้อย่างไร 14 ตุลาเป็นการรวมพลังที่ต่อต้านรัฐบาลทหารของกลุ่มต่างๆ ทั้งพลังภายในและภายนอก ถ้าอย่างนั้นพลังของนักศึกษาอยู่ที่ไหน พลังของนักศึกษาก็เป็นหนึ่งในหลายๆ พลังที่มารวมกันที่ทำให้เกิดการล่มสลายของรัฐบาลทหาร
“เราเห็นภาพจากภายนอกว่าเป็นชัยชนะของขบวนการนักศึกษา แต่ถ้าจะให้น้ำหนักในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่ไปดูข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็อาจจะบอกว่า พลังนักศึกษาเป็นแค่ส่วนประกอบของการเกิดขึ้นของ 14 ตุลา มันมีคำอธิบายต่อไปว่า คือถ้าเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย แล้วเกิด 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจว่า 14 ตุลาเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำด้วยกันเอง แล้วเกิดขึ้นจากบทบาทผสมโรงของสหรัฐฯ ด้วย ถ้าไปดูรายละเอียดมีการสมคบคิดมากมายที่จะอธิบายเหตุการณ์ 14 ตุลา เราอาจต้องคิดเรื่อง 14 ตุลากันใหม่ เอกสารเท่าที่ดูที่อังกฤษก็ชี้ให้เห็นว่า คุณกฤษณ์ สีวะรา เป็นคนสำคัญในการทำให้คุณถนอมและคุณประภาสลงจากตำแหน่ง
“ถามว่าระบบที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคืออะไร เราก็บอกว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าทหารภายใต้การนำของคุณกฤษณ์ สีวะราก็ยังมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง คุณสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ไม่อยากจะเป็นนายกฯ เท่าไหร่ พอมีปัญหาขึ้นก็ต้องให้คุณกฤษณ์มาปลอบใจให้อยู่ต่อไป มีการช่วยเหลือกันทุกอย่าง สิ่งที่ต้องเข้าใจคือโครงสร้างอำนาจของทหารไม่ได้หมดไปหลัง 14 ตุลา ไม่ใช่การแทนที่กัน แต่เป็นการหลบมา แล้วก็มีหุ่นเชิดไว้ แต่ที่น่าแปลกใจคือพวกทหารที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตอนนั้น พอหลัง 14 ตุลาเขาก็มีความตระหนักว่าการมีรัฐบาลทหารจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้น แม้กระทั่งจะคิดว่าจะมีรัฐประหารตอนต้นปี 1976 ก่อนเกิด 6 ตุลา ทหารคิดวางแผนมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เขาก็ยังต้องการหาพลเรือนมาบังหน้า
“สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของการเมืองในยุค 3 ปีนั้นคือการเติบโตของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งผนวกกับข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากไทย แล้วก็ผูกกับการที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถบริหารราชการอย่างเรียบร้อยได้ ความพอใจตรงนี้ ความอึดอัดคับข้องใจของทั้งทหารและพลเรือน มันก็นำมาสู่เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญที่ดิฉันคิดว่าเราไม่ค่อยจะแยกกันก็คือ การฆ่าหมู่ในธรรมศาสตร์ในตอนเช้าและการยึดอำนาจในตอนเย็น เท่าที่ศึกษามาถึงจุดนี้ขอเสนอว่า มันเป็นการกระทำของผู้นำทหาร 2 กลุ่ม
“แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อทหารยึดอำนาจแล้วก็ให้พลเรือนขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี แล้วรัฐบาลพลเรือนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ แต่กลับทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดก็มีผู้นำทหารยึดอำนาจจากคุณธารินทร์ในปลายปี 1977 ผู้นำคนนั้นก็คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
“ตอนนี้ดิฉันอยากจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าภาวะผู้นำ เพราะว่าคุณเกรียงศักดิ์เป็นทหารก็จริง แต่มีคุณลักษณะที่พิเศษ ไม่เหมือนกับทหารทั่วไป คือเป็นคนที่ฉลาดมาก มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยที่ไม่ค่อยจะมีผลประโยชน์แอบแฝงส่วนตัว
“พอคุณเกรียงศักดิ์ยึดอำนาจมา ก็เตรียมตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ผู้แทนที่มาจากพรรคการเมืองที่สำคัญ ฝ่ายกองทัพ ข้าราชการ และนักธุรกิจ ก็อาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีฉันทามติพอสมควร ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญนี้อยู่มาจนถึงการปฏิวัติของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) คนมักจะเรียกว่าเปรมโมเดล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นรัฐธรรมนูญที่คุณเกรียงศักดิ์อยู่เบื้องหลังการร่าง แล้วแกก็กำกับดูแลอย่างมีกลยุทธ์ คือไม่ได้มีการสั่งการให้ดำเนินการ แต่มีการสั่งการให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยนัก ให้คนต่อต้าน แล้วตัวแกก็เข้ามาและบอกว่ารัฐธรรมนูญจะต้องถอยหลัง เพราะฉะนั้นหน้าตาของแกคือผู้นำที่ดูมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ดิฉันคิดว่ามันเป็นกลยุทธ์ของผู้นำที่ ‘เป็น’ ทางการเมือง มันก็เป็นรัฐธรรมนูญที่พอจะประสานประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองได้
“การศึกษาของดิฉันที่ดูจากเอกสารชั้นต้นแค่รัฐบาลคุณเกรียงศักดิ์ สิ่งที่จะพูดต่อไปอาจจะเป็นข้อสังเกตและได้จากการศึกษา แต่ก็ทำให้ตั้งคำถามต่อมาถึงการเมืองในยุคสมัยใหม่นี้ด้วย รัฐธรรมนูญของคุณเกรียงศักดิ์ยืนยาวมาจนถึงสมัยคุณชาติชาย แล้วก็ถูกรัฐประหาร แล้วหลังจากนั้นก็มีความพยายามที่ทหารจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่และเกิดการต่อต้าน
“ข้อสังเกตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ หลังจากยุคสงครามเย็นแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นยุคของการผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ เราจะเจอกับคำว่า ธรรมาภิบาล ความเป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใส โลกาภิวัตน์ แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่นำเข้ามาในสังคมไทย มีการยัดเยียด มีนักวิชาการบางคนได้รับเชิญไปดูงานที่วอชิงตัน ดี.ซี. แล้วก็กลับมาเป็นคนเริ่มต้นคำว่า โลกานุวัตน์ สหรัฐฯ มีบทบาทในการเข้ามากำหนดวิธีคิด อุดมการณ์ ในสังคมไทยในยุคต้นทศวรรษที่ 1990 การต่อต้านรัฐบาลทหารที่เราเรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ เราก็เห็นบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้ามาก่อนหน้านั้น เข้ามาอบรมหน่วยต่างๆ ของภาคสังคมในประเทศไทยให้มีการตื่นตัวทางประชาธิปไตย เอกสารชั้นต้นยังมองไม่เห็น แต่ก็พอจะมองเห็นบทบาทของมูลนิธิเอเชียในการเข้ามาจัดประชุมเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตย ที่เน้นมากคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน เขาเห็นบทบาทการสนับสนุนการฝึกอบรมสหภาพแรงงานของประเทศไทย เป็นบทบาทที่สำคัญของอำนาจภายนอกที่มีต่อการเมืองภายใน
“เราบอกไม่ได้ว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองภายในแค่ไหน แต่พูดได้อย่างหนึ่งว่าเขายังมีความสนใจต่อสถานการณ์ภายในของประเทศไทย และถ้าเผื่อว่ามีผลประโยชน์ที่จะรักษารูปแบบทางการเมือง ดิฉันไม่ได้บอกว่าต้องเป็นประชาธิปไตยนะคะ แต่เป็นรูปแบบทางการเมืองที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เราก็อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ Bangkok Spring หรือ Thailand Spring ก็เป็นได้ มันก็เป็นเงื่อนไขตัวหนึ่งของพลวัตรทางการเมืองภายใน
“เมื่อกี้เราพูดกันว่า ทุนนิยมโลกทำให้เกิดพลังสังคมต่างๆ มากขึ้น สังคมก็มีความสลับซับซ้อนและความหลากหลายมากขึ้นด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในการเมืองปัจจุบันคือการตื่นตัวของชนชั้นล่างในสังคม เอกสารที่ดิฉันไปนั่งอ่านที่อังกฤษ แม้กระทั่งปลายทศวรรษที่ 1970 คนไทยก็ยังไม่มีความสนใจการเมือง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องนอกตัว เพราะทักษิณ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร เขาได้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยมีความตื่นตัวทางการเมือง เขาได้ทำให้คนชั้นล่างของสังคมมีความตระหนักว่าผลประโยชน์ของเขาผูกกับระบบทางการเมือง
“เราพูดถึงตอนต้นว่า เรามีขบวนการชาตินิยมที่เป็นผู้นำกลุ่มเล็กๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2475 แต่สิ่งที่จะบอกก็คือ เราอาจจะกำลังเห็นปรากฏการณ์ของส่วนหลังของขบวนการชาตินิยม ก็คือ Mass Movement Mass Movement ที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมคือ Mass Movement ที่ต่อต้านทุนนิยม แต่เราอาจจะมีความผกผันว่า Mass Movement ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยอาจจะเป็นขบวนการที่เติบโตมาพร้อมกับระบบทุนนิยมและได้ประโยชน์จากทุนนิยมก็ได้
“เพราะฉะนั้นภาพที่อาจารย์กนกรัตน์บอกว่านโปเลียนที่ 3 อยู่นานถึง 23 ปีนั้น ขอติงนิดหนึ่งว่า 23 ปีของนโปเลียนที่ 3 นั้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก เป็นยุคของการขยายลัทธิอาณานิคมอย่างเข้มแข็งมาก ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก จากการที่ดิฉันศึกษาประวัติศาสตร์มานาน ดิฉันเชื่อว่าพลังอะไรที่กระทบกับความเป็นอยู่ของสังคม มันก็จะเป็นพลังกลับที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจจะต้องมองการมีส่วนร่วมของภาคสังคมของประเทศไทยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมที่เราพบได้ในที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”