บีบีซีไทย - BBC Thai
ชาวตุรกีเดินขบวนสนับสนุนประชาธิปไตยในหลายเมืองทั่วประเทศ หลังรัฐประหารไม่สำเร็จ

ประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมบนท้องถนนตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศตุรกี ภายหลังกลุ่มทหารพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลตุรกีช่วงค่ำวันที่ 15 ก.ค. และนายเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ประกาศว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์และจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้วเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.)
ทางการตุรกีเปิดเผยว่าทหารเกือบ 3,000 นายถูกควบคุมตัว โดยรวมถึงทหารระดับนายพลจำนวนหนึ่ง และผู้พิพากษาราว 2,700 คนถูกสั่งปลด แต่รัฐบาลกำลังดำเนินการสรรหาผู้มารับตำแหน่งแทน ส่วนประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตในการต่อต้านรัฐประหารมีจำนวน 161 ราย ทหารผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 104 นาย และผู้บาดเจ็บอีกราว 1,440 คน โดยรายงานข่าวระบุว่ามีการปะทะกันหลายจุดทั่วนครอิสตันบูลช่วงค่ำวันที่ 15 ก.ค. โดยเฉพาะจัตุรัสทักซิมซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมที่สำคัญของกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

นายบินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีตุรกี กล่าวว่าความพยายามรัฐประหารครั้งนี้เป็นรอยด่างดำของประชาธิปไตยตุรกี และย้ำว่าสถานการณ์ภายในประเทศอยู่ในความควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของรัฐบาล และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลกลับเข้าประจำการตามปกติแล้ว

สำนักข่าวอะนาโดลูของตุรกีรายงานว่าทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารราว 200 นายซึ่งปราศจากอาวุธและถูกสั่งให้ตรึงกำลังอยู่ที่ศูนย์บัญชาการกองทัพตุรกีในกรุงอังการา เมืองหลวงตุรกี ยอมเข้ามอบตัวกับตำรวจแต่โดยดี เช่นเดียวกับทหารหลายสิบนายซึ่งนำรถถังปิดเส้นทางข้ามสะพานบอสฟอรัสในนครอิสตันบูลยอมวางอาวุธและเดินชูมือเปล่าเข้ามอบตัว

ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งข่าวไม่ระบุชื่อ กล่าวว่ารัฐบาลตุรกีประกาศเขตห้ามบินช่วงที่เกิดเหตุรัฐประหาร ทำให้ฐานทัพอินเจอร์ลิกของตุรกี ซึงเป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มที่เรียกตนเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) ถูกสั่งปิดชั่วคราวไปด้วย

ด้านนายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เผยข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าทหาร 8 นายที่ใช้เฮลิคอปเตอร์บินหนีไปยังประเทศกรีซเพื่อขอลี้ภัยจะถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ตุรกี ขณะที่รัฐบาลกรีซยังไม่ได้แถลงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีแอร์โดอันยังได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวนายเฟตุลลาห์ กูเลน ผู้นำศาสนาชาวตุรกีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องสงสัยวางแผนก่อรัฐประหาร แต่นายกูเลนแถลงประณามการก่อรัฐประหารในครั้งนี้เช่นกัน พร้อมย้ำว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ขณะที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีแอร์โดอันเคารพหลักนิติรัฐในการสอบสวนและดำเนินคดีกลุ่มผู้พยายามก่อรัฐประหาร หากตุรกีให้คำมั่นในเรื่องดังกล่าว สหรัฐฯ จึงจะพิจารณาเรื่องการส่งตัวเฟตุลลาห์ กูเลน กลับไปยังตุรกี

รายงานข่าวระบุว่าเหตุรัฐประหารเริ่มขึ้นช่วงค่ำวันที่ 15 ก.ค. โดยทหารหลายกลุ่มกระจายกำลังเข้ายึดและปิดล้อมสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งสะพานบอสฟอรัส สำนักข่าว และสนามบินนานาชาติอตาเติร์กในนครอิสตันบูล ศูนย์บัญชาการทหารในกรุงอังการา ที่พำนักนายกรัฐมนตรี และอาคารรัฐสภา แต่กองทัพฝ่ายรัฐบาลพยายามชิงอำนาจคืนจากฝ่ายที่พยายามก่อรัฐประหาร ทำให้เกิดการปะทะกันหลายจุด และผู้บัญชาการทหารหลายนายถูกจับเป็นตัวประกัน

ประธานาธิบดีแอร์โดอันเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังต่อต้านความพยายามก่อรัฐประหาร พร้อมระบุว่าทหารผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไปอย่างสาสม ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมารวมตัวตามที่ต่างๆ ที่ทหารกลุ่มก่อรัฐประหารตรึงกำลัง และเกิดการปะทะกันระหว่างทหารและประชาชน จนกระทั่งนายแอร์โดอันปรากฏตัวใกล้กับที่พำนักของตนในนครอิสตันบูล และประกาศว่าความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลว

เจเรมี บาวเวน บรรณาธิการข่าวของบีบีซีประจำตะวันออกกลาง ระบุว่าการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสังคมตุรกีแตกแยกเป็นฝักฝ่ายเพราะการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีแอร์โดอันซึ่งพยายามเปลี่ยนแปลงแนวคิดแยกศาสนาออกจากการเมือง และบังคับใช้นโยบายอ้างอิงศาสนาอิสลามมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีผู้ไม่พอใจนโยบายดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ประธานาธิบดีแอร์โดอันและพรรคเอเคซึ่งเป็นพรรครัฐบาลยังชนะการเลือกตั้งมาได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การประกาศสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ทำให้ตุรกีตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มไอเอส และความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนตุรกี-ซีเรีย ทำให้กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลตุรกีหวนกลับมาก่อเหตุรุนแรงอีกครั้ง ทำให้ตุรกีต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองครั้งสำคัญ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุไม่สงบภายในประเทศได้อีกในอนาคต







แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.