Posted: 22 Jun 2017 09:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สนช.มีมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.. ประกาศใช้เป็นกฎหมาย


แฟ้มภาพ

22 มิ.ย. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 218 ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดว่าภายใน 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต้องตรากฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นกรอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติวางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศต่อไป

โดยในร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... นี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง, ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง, รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม, มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมคมธนาคารไทย และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มี 17 คน อายุไม่เกิน 75 ปี แต่งตั้งโดยคำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและช่วงอายุ ประกอบด้วย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านความมั่นคง ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้ ทั้งนี้ ในส่วนของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น คณะกรรมาธิการฯ วิสามัญของ สนช. ได้บัญญัติเพิ่มเติม จากเดิมมี 14 คน เพิ่มเป็น 17 คน ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขนั้น ที่ประชุมฯ ได้เพิ่มเติมขึ้นในการพิจารณาในวาระ2 ตามคำแนะนำของสมาชิก สนช. เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และแผนปฏิรูปประเทศ

ส่วนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านต่าง ๆ จะมีด้านละไม่เกิน 15 คน ซึ่งการแต่งตั้งให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความหลากหลายของช่วงอายุ ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ตาม 3 เป้าหมายหลัก คือ 1 เป้าหมายด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ 2.เป้าหมายคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และ3 บทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน ขณะที่การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหรือภารกิจขององค์กรอิสระ ให้แต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหรืองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการด้วย

สำหรับการติดตามพิจารณาผลนั้น หน่วยงานรัฐต้องรายงานผลการดำเนินการประจำปีต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงาน และรัฐสภา ทราบภายใน 90 วัน หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ก็ให้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการสอบสวนกับผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้น ขณะที่ในกรณีหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขการดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหลังได้รับแจ้งให้ปรับปรุง ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกับกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป

เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมาย

วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ...ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 216 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 220 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น ตามมาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีจัดทำแผนขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน รวมทั้งกำหนดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ ขณะที่การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศควรพิจารณาถึงความเร่งด่วนของการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน เพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศ และต้องคำนึงถึงความพร้อมทางด้านบุคลากรและการเงินการคลังของประเทศ

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.