Posted: 13 Jun 2017 11:36 PM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ครม.อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จำนวน 34 คัน จากจีน 2,300 ล้าน ผูกพัน ปี 60-63 ผบ.ทบ.แจงมีหลายปัจจัย พร้อมยอมรับสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การบริหารงาน คสช. ซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศตะวันตกค่อนข้างจะลำบา



14 มิ.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (13 มิ.ย.60) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 (VN1) จำนวน 34 คัน จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำเข้า ครม. โดยอนุมัติงบผูกพัน ปี 2560-2563 และอนุมัติให้กองทัพบก(ทบ.)เดินทางไปเซ็นสัญญาจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ทั้งนี้ สำหรับโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง (ระยะที่ 2) เพื่อทดแทนรถยานเกราะ วี150 และรถสายพาน เอ็ม 113 เอ3 ที่ใช้งานมาแล้ว 40- 50 ปี เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ คือ ทบ. ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) มี 3 ประเทศ ที่ยื่นแบบ คือ 1.ยานเกราะล้อยาง บีอาร์ที-4 อี ประเทศยูเครน 2.ยานเกราะล้อยาง บีทีอาร์-82 เอ สหพันธรัฐรัสเซีย 3.ยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จากจีน ทั้งนี้ คณะทำงานพิจารณารับรองแบบและเตรียมการจัดหายานเกราะล้อยาง ได้ให้คะแนนความพอใจ อันดับที่ 1 ยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 ของจีน โดยเบื้องต้นรถยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จะเข้าประจำการที่กองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1 ) ที่กองพันทหารม้าที่ 10 (ม.พัน.10) ค่ายสุริยพงษ์ จ.น่าน และกองพันทหารม้าที่ 7 (ม.พัน.7) ค่ายพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์

สำหรับ การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทบ.ที่ผ่านมา เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติโครงการซื้อรถถัง วีที-4 (VT-4) สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระยะที่ 2 จำนวน 10 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านั้น ปี 2559 ทบ.ได้ลงนามซื้อรถถัง วีที-4 จากประเทศจีนไปแล้ว 28 คัน วงเงิน 4,900 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพและทดแทนรถถังรุ่นเก่า

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าว่า สำหรับการเดินทางไปลงนามการซื้อขายโครงการดังกล่าวกับประเทศจีนนั้นเป็นหน้าที่ของ พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ซึ่งได้วางแผนไว้ ไม่แน่ใจว่าจะเดินทางไปภายในต้นเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า ถือเป็นการจัดหายานเกราะล้อยาง VN 1 ที่เคยชี้แจงไปแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกรอบงานของกองทัพในปี 2560 ถึง 2564

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดถึงต้องซื้อจากประเทศจีน เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในการจัดหายุทโธปกรณ์จะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดก็คือความเหมาะสมในการใช้งานกับกองทัพไทย รวมถึงราคา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ คสช. การซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศตะวันตกค่อนข้างจะลำบากและในสภาวะที่ประเทศมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า และคุ้มค่ากับการใช้งานถือเป็นจังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราจะซื้อของจีนเพียงอย่างเดียว ในการพิจารณายานเกราะล้อยาง เราดูทั้งของจีน รัสเซีย และยูเครน มีการส่งคณะกรรมการเดินทางไปดูและเปรียบเทียบ ในทุกๆด้านทั้งราคาคุณภาพ และการส่งกำลังบำรุง ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดได้สรุปว่าของจีนเหมาะสม

ที่มา : มติชนออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.