Posted: 21 Jun 2017 03:54 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สธ.จัดสัมมนาชนเวทีปรึกษาสาธารณะแก้ กม.หลักประกันสุขภาพ วรากรณ์ย้ำสิทธิประชาชนไม่ลดลง ร่วมจ่ายเป็นเนื้อหาเดิม มีไว้เผื่ออนาคต ด้านภาคประชาชนจัดแถลงหน้าห้องสัมมนา เหตุผู้จัดไม่ให้ถามและแสดงความเห็น เสนอแนวทางแก้กฎหมาย ด้านเลขาฯ สปสช. ยันไม่มีการนำเงินประหยัดจากการซื้อยาให้เอ็นจีโอ เชื่อปิยะสกลไม่ได้พูด ฟาก สช. เตรียมเคลื่อนสมัชชาฯ วาระพิเศษ


ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นหนังสือแก่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

21 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ได้มีการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) ในเรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จัดโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ....

ขณะที่ชั้นล่างของเวทีนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้จัดการสัมมนาวิชาการ ทำไมต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ปีงบประมาณ 2560 แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร บัตรทองอาจหายไปหากไม่มีการแก้ไขหลักประกันสุขภาพขึ้นพร้อมกันในช่วงที่เวทีปรึกษาหารือกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มย่อย โดยหนึ่งในผู้ร่วมสัมมนาในเวทีของ สธ. นี้คือ วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวใช้มา 15 ปี ควรมีการปรับปรุง และระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการให้บริการให้มีความชัดเจนขึ้น
วรากรณ์ยันแก้ กม.หลักประกัน สิทธิไม่ลดลง

“ผมขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีใครที่เสียสิทธิ เลวร้ายลงกว่าเดิม ใครที่ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับยา เหมือนเดิมทุกอย่าง มีแต่จะมากขึ้นจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่รัฐจะให้เพิ่มเติมขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าได้ตื่นตระหนก ทุกคนได้สิทธิเหมือนเดิม มีแต่ดีขึ้นกว่าเดิม ยืนยันครับ”

กรณีร่วมจ่ายซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกคัดค้านจากภาคประชาชนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ วรากรณ์ กล่าวว่า มาตราที่เกี่ยวกับการร่วมจ่ายในร่างกฎหมายไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ โดยนำมาจากกฎหมายเดิมทั้งหมด เพราะข้อความนี้เหมาะสมแล้ว

“สำหรับการจ่ายค่าบริการ บางครั้งกรรมการกำหนดให้คนที่รับบริการจ่ายเงินร่วมด้วย ยกเว้นคนยากไร้จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ใช้มาตราเดียวอย่างนี้เลย เพราะเราคิดว่ากฎหมายจะต้องคล่องตัว ไม่มีการแก้อะไร ไม่มีการเก็บในประเทศไทยตอนนี้ ทุกคนฟรีหมด ทีนี้ ถ้าเราแก้ว่าต้องฟรีสำหรับทุกคน อันนี้จะทำร้ายคนยากจน เพราะว่าคนที่มีเงินก็ไม่ต้องจ่าย ก็ไปบีบคนยากไร้ให้ได้รับประโยชน์น้อยลง การเขียนอย่างนี้ไว้ ในอนาคตถ้ามีการรักษาพยาบาลที่มีราคาแพง เราก็สามารถให้คนที่มีเงินร่วมจ่ายได้ แล้วก็มีความคล่องตัว แต่ ณ ขณะนี้ไม่มีการร่วมจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และผมคิดว่าก็คงมีเหตุผลในอนาคตจำเป็นที่ต้องร่วมจ่าย เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ก็เหมือนเก่า ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสวัสดิการถ้วนหน้าโดยไม่ต้องร่วมจ่ายแม้แต่บาทเดียว”

ส่วนเรื่องการไม่มีส่วนร่วมของประชาชน วรากรณ์ กล่าวว่า คงไม่สามารถให้ประชาชนเป็นพันคนมาร่วมร่างกฎหมายได้ แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้มีแต่นักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างเดียว แต่ยังมีตัวแทนภาคประชาชนด้วย เพียงแต่การที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็คือการมีเวทีรับฟังความคิดเห็นในสี่ภาค โดยทางคณะกรรมการฯ มีความจริงใจอย่างยิ่งในการรับฟังความคิดเห็นและจะนำไปพิจารณาในคณะกรรมการฯ
ภาคประชาชนแถลงนอกห้องสัมมนา หลังถูกห้ามไม่ให้ถาม

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้ดำเนินรายการไม่ให้ผู้ร่วมฟังแสดงความคิดเห็นและซักถาม แต่ให้ใช้วิธีการเขียนคำถามลงในกระดาษแล้วส่งให้ผู้ดำเนินรายการแทน ทำให้สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เดินออกไปที่โพเดียมเพื่อขอแสดงความคิดเห็น แต่ผู้ดำเนินรายการไม่อนุญาต

สุนทรีจึงเดินออกมาแถลงบริเวณหน้าห้องสัมมนา โดยอธิบายถึงสิ่งที่กลุ่มคนรักหลักประกันฯ เห็นด้วย 4 ประเด็น เห็นต่าง 5 ประเด็น และ 7 ประเด็นที่เห็นว่าหากแก้ไขแล้วจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดีขึ้น

4 ประเด็นที่เห็นด้วยคือ หนึ่ง-มาตรา 14 ห้ามดำรงตำแหน่งสองคณะในขณะเดียวกัน สอง-มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย สาม-มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และสี่-ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย

5 ประเด็นที่เห็นต่างกับคณะกรรมการฯ คือ หนึ่ง-ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม ‘เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ’ และการแก้ไขนิยาม ‘สถานบริการ’ ตามมาตรา 3 สอง-ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาม-แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่ระบุเพียงให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ สี่-ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 46 ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และห้า-ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 48(8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพและผู้ให้บริการ

ส่วน 7 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปการแก้ไขกฎหมายคือ หนึ่ง-แก้ไขมาตรา 5 ให้บริการสาธารณสุขคนไทยทุกคน รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ รวมถึงยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการหรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ สอง-แก้ไขมาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน สาม-แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคนและรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน สี่-เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 18 แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ห้า-แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส หก-แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร และเจ็ด-เสนอให้ตัดบทเฉพาะพาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และมาตรา 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ

(อ่านรายละเอียดได้ในไฟล์แนบหนังสือ ขอให้ชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมาย ด้านล่าง)

ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังเตรียมหนังสือชี้แจงในประเด็นข้างต้นเพื่อยื่นให้แก่วรากรณ์ อย่างไรก็ตาม ทางวรากรณ์ไม่ได้มารับหนังสือฉบับดังกล่าว นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จึงเป็นผู้รับแทน
เลขาฯ สปสช. ยันไม่มีการนำเงินที่ประหยัดจากค่ายาไปให้เอ็นจีโอ เชื่อ รมว.สธ. ไม่ได้พูด

ทางด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประชาไท กรณีที่พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอ้างคำพูดของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สปสช. นำเงินที่ประหยัดได้จากการจัดซื้อยามาแบ่งให้กับเอ็นจีโอนั้น เป็นความจริงหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า

“อันที่หนึ่งผมต้องเรียนก่อนว่า ผมไม่เชื่อว่าท่านรัฐมนตรีพูด ผมเชื่อว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้พูดอย่างนั้น อาจจะมีคนตีความผิด เพราะท่านรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ท่านทราบและรู้ดีว่า สปสช. บริหารเรื่องนี้อย่างไร ท่านชื่นชมเรื่องการบริหารด้านเวชภัณฑ์ของเราว่าประหยัดได้เยอะ สามารถนำส่วนที่ประหยัดไปใช้ในการบริการ มันเป็นเงินของประชาชนและมีกระบวนการตรวจสอบอยู่ เพราะฉะนั้น ผมไม่เชื่อว่าท่านพูดอย่างนั้น”

ประเด็นที่ว่ามีการนำเงินที่ประหยัดจากการซื้อยาไปให้เอ็นจีโอ นพ.ศักดิ์ชัย ยืนยันว่า

“ไม่มีครับ ไม่จริงครับ เพราะผิดกฎหมาย ปกติเหมาจ่ายรายหัวจะมีหมวดงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งเงินส่วนนี้จะให้กับกลุ่มมูลนิธิ หน่วยราชการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการไปทำเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน สาธารณสุขจังหวัดก็ได้ สาธารณสุขอำเภอ ให้กับเอ็นจีโอ ให้กับมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้สุขภาพ เรามีให้”
หมอพลเดชเตรียมเคลื่อนสมัชชาวาระพิเศษ แต่บอกคงทำไม่ทัน คกก.ชุดวรากรณ์

ในส่วนของเวทีปรึกษาสาธารณะ ภายหลังจากเสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ 16.00 น. นพ.พลเดช ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ข้อคิดเห็นที่ได้จากเวทีใน 14 ประเด็นบวก 3 จากผู้มีส่วนร่วมต่างๆ จะถูกบันทึกไปตามจริง ไม่มีการสรุป แต่จะทำการประมวลทุกข้อคิดเห็น ทั้งที่เห็นร่วม เห็นต่าง และประเด็นที่เสนอใหม่ พร้อมกับให้เหตุผลประกอบส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ชุดของวรากรณ์

ขณะที่ประเด็นการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติวาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ นพ.พลเดช กล่าวว่า ประเด็นใดที่เป็นงานระยะยาว ต้องการการศึกษาวิจัย ต้องการการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม คงไม่สามารถทำเสร็จทันการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทาง สช. มีแผนในใจแล้วว่าจะต้องทำ

“เราคงไม่ทันงานของคณะกรรมการนี้ เขาก็เดินของเขาไป อันนี้คืองานระยะยาว และไม่ว่าเขาจะมีการแก้ไขกฎหมายอย่างไร กฎหมายก็มีการทบทวนเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวล อันไหนที่ไม่ควรรอก็อย่าไปรอ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด อะไรที่รอได้ ก็รอ เราก็พร้อมที่จะทำการบ้านช่วย แต่ถ้าเขาไม่รอ แต่ประชาชนยังติดค้างอยู่ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำการศึกษา เพราะในกระบวนการสมัชชาสุขภาพจะมีกระบวนการ เมื่อได้ผลแล้วจะถูกนำเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะฉะนั้นเรามีช่องทางปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว” นพ.พลเดช กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.